อัพเดทล่าสุด 11/04/2023 โดย Wit Sudjaiampun

วิธีอ่าน ใบเซอร์เพชร GIA ให้เก่งอย่างมืออาชีพ [เจาะลึก]

เพชรที่มีใบเซอร์

แชร์บทความนี้

ใบเซอร์เพชร คือ เครื่องการันตีที่จะทำให้คุณซื้อเพชรได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น

หากคุณกำลังวางแผนที่จะซื้อเพชรเม็ดใหญ่กว่า 18 ตัง (0.18 กะรัต) ใบเซอร์เพชร คือสิ่งสำคัญที่คุณไม่ควรมองข้าม

ใบเซอร์เพชร จากสถาบันชั้นนำของโลกอย่าง GIA หรือ HRD ก็เปรียบเสมือนใบรับประกัน ว่าคุณจะได้รับเพชรเม็ดนั้นๆซึ่งตรงกับคุณภาพที่คุณกำลังมองหา อีกทั้งยังมีราคาเพชรที่อ้างอิงจากราคากลางมีมาตรฐาน

แต่ก็ใช่ว่าเพชรที่มีใบเซอร์ทุกเม็ดจะเป็นเพชรสวย เนื่องจากผู้ซื้อส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรู้เรื่องการอ่านใบเซอร์เพชรมากพอ จึงอาจทำให้พลาดพลั้งและได้รับเพชรคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน

ผมจึงตั้งใจเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อแบ่งปันความรู้ ให้คุณสามารถอ่านใบเซอร์เพชรได้อย่างถูกต้อง และใช้เป็นแนวทางสำหรับการลงทุนซื้อเพชรในอนาคตครับ

ผมเชื่อว่า “ความรู้คือพลัง” เพราะฉะนั้นยิ่งคุณมีความรู้เรื่องเพชรมากเท่าไร ก็จะทำให้คุณสามารถซื้อเพชรได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้นครับ

4 ข้อดีของการซื้อ เพชรมีใบเซอร์

1. ซื้อเพชรแท้ สบายใจหายห่วง

เพชรแท้ เพชรเทียม

หากคุณเป็นเหมือนผู้ซื้อส่วนใหญ่ ที่ไม่ได้มีความชำนาญในการแยกแยะเพชรแท้กับเพชรเทียมด้วยตาเปล่า คุณก็อาจจะต้องเสี่ยงว่าจะได้รับเพชรสังเคราะห์ในราคาเพชรแท้ หรือในราคาที่ต่ำมากจนคุณต้องตัดสินใจซื้อ

ในยุคสมัยนี้ เทคโนโลยีได้พัฒนาไปไกลมาก จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์สามารถผลิตเพชรสังเคราะห์จากห้องแล็บ (Laboratory Grown) ให้เหมือนเพชรแท้ได้โดยไร้ที่ติ โดยมีชื่อเรียกกันว่าเพชร CVD (Chemical Vapor Deposition) ซึ่งดูเหมือนเพชรแท้จนคนทั่วไปแยกไม่ออก ในขณะที่เพชร CZ หรือเพชรรัสเซียยังสามารถดูออกว่าเป็นเพชรปลอมได้ไม่ยาก

แม้แต่สถาบัน GIA เองยังต้องเปิดหน่วยงานใหม่ขึ้นมา เพื่อออกใบเซอร์ให้สำหรับเพชรชนิดนี้โดยเฉพาะ โดยจะมีการระบุในใบเซอร์อย่างชัดเจนด้วยสีเทาเงิน ว่าเป็น เพชรสังเคราะห์ (GIA Synthetic Diamond Report) ดังภาพประกอบด้านล่าง:

GIA Synthetic Diamond Report

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เพชรสังเคราะห์ก็ยังคงได้รับความนิยมน้อยกว่าเพชรแท้อยู่ดี เพราะขาดเสน่ห์ของความเป็นธรรมชาติในเพชรแท้ ที่ใช้เวลาในการบ่มเพาะกว่าหลายพันล้านปี จึงทำให้เพชรสังเคราะห์มีมูลค่าต่ำกว่าเพชรแท้มาก

เมื่อคุณซื้อเพชรแท้ที่มีใบเซอร์ คุณจะสามารถทราบได้ทันทีว่าเพชรเม็ดนั้น มีจุดกำเนิดมาจากธรรมชาติอย่างแท้จริง และมีมูลค่าในตัวเอง ทำให้คุณมั่นใจยิ่งขึ้นในการซื้อเพชรครั้งต่อไป

ข้อนี้ จึงเป็นข้อที่คุณควรให้ความสำคัญมากที่สุดครับ

2. ได้เพชรคุณภาพตรงกับความเป็นจริง

หากคุณซื้อเพชรที่ไม่มีใบเซอร์ คงจะต้องอาศัยความเชื่อใจต่อผู้ขายมากในระดับหนึ่ง เช่น หากผู้ขายแจ้งว่าเพชรเป็นน้ำ 99% แต่ที่จริงแล้วอาจเป็นน้ำ 98% ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันพอสมควร โดยที่คุณก็อาจจะไม่สามารถแยกแยะได้ด้วยตาเปล่าอยู่ดี

เพราะฉะนั้นหากคุณเลือกซื้อเพชรที่มีใบเซอร์ ไม่ว่าจะรับรองโดยสถาบัน GIA หรือ HRD ก็จะมีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับ 4C’s of Diamonds อย่างชัดเจน คุณจึงไว้วางใจได้เรื่องความแม่นยำ เพราะสถาบันที่ผมกล่าวมาในเบื้องต้นทั้งสอง ถือเป็นสถาบันชื่อดังอันดับต้นๆของโลก ที่มีนักอัญมณีศาสตร์มืออาชีพ เป็นผู้ให้คะแนนเพชรของคุณจากห้องแล็บโดยตรง

ส่วนวิธีการเช็คว่าใบเซอร์นั้นตรงกับเพชรหรือเปล่าก็ง่ายนิดเดียว เพียงคุณส่องดูว่าเลขตรงขอบเพชร (Laser Inscription) กับเลขในใบเซอร์ที่คุณถืออยู่ (Report Number) ตรงกันหรือเปล่าก็เท่านั้นเองครับ

3. เปรียบเทียบความคุ้มค่าได้ง่ายกว่า

วิธีดูเพชร

เมื่อคุณทราบคุณลักษณะของเพชรอย่างละเอียด จะทำให้คุณสามารถเปรียบเทียบราคาเพชรได้อย่างง่ายดาย

เช่น หากคุณกำลังมองหาราคาเพชร 1 กะรัต น้ำ 99% (E Color) ความสะอาดดีมาก (VVS Clarity) แล้วคุณบังเอิญเจอเพชร 2 เม็ดที่ขายในราคาเท่ากัน เพียงแต่เม็ดหนึ่งมี 3 Excellent (Cut) ในขณะที่อีกเม็ดหนึ่งมีเพียง 2 Excellent กับ 1 Very Good คุณก็จะทราบได้ทันทีว่าเพชรเม็ดแรกนั้น คงจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่านั่นเอง

ในขณะเดียวกัน ถ้าคุณเลือกซื้อเพชรที่ไม่มีใบเซอร์ จริงอยู่ที่คุณอาจซื้อได้ในราคาที่ประหยัดกว่า แต่อาจกลายเป็นว่าคุณจ่ายแพงกว่า เมื่อเทียบกับคุณภาพเพชรที่ได้รับ

4. ซื้อง่ายขายคล่อง

แหวนเพชรแถวบาเกต

หลายคนที่เคยซื้อเพชรไปแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป มีหน้าที่การงานที่มั่นคงและฐานะการเงินดีขึ้น ก็มักจะมองหาเพชรเม็ดใหญ่กว่าเดิมไว้ประดับบารมี และอาจต้องการนำเพชรเม็ดเก่าไปขายต่อเพราะไม่ค่อยได้สวมใส่แล้ว

สำหรับตลาดการซื้อขายเพชรมือสอง มูลค่าของเพชรที่ไม่มีใบเซอร์จะสู้เพชรที่มีใบเซอร์ไม่ได้ เช่นเดียวกับการขายนาฬิกาแบรนด์เนมแบบไม่มีใบเสร็จหรือใบรับประกัน เพราะผู้ที่ซื้อเพชรต่อจากคุณก็ต้องการได้รับความมั่นใจเหมือนกัน ฉะนั้นใบเซอร์เพชรก็เปรียบเสมือนใบการันตีที่มีมูลค่าในตัวเอง

ดังนั้น หากคุณกำลังคิดจะลงทุนซื้อเพชรเม็ดใหญ่ทั้งที ผมก็แนะนำให้คุณเพิ่มงบประมาณอีกสักหน่อย เพื่อซื้อความมั่นใจจากเพชรมีใบเซอร์ ก็จะเป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลกว่าในระยะยาวครับ

เพชรเซอร์ GIA คือมาตรฐานสากล

ใบเซอร์เพชร GIA จะมีอยู่ 2 แบบ:

GIA Diamond Grading Report (ใบเซอร์ใหญ่)

Grading Report เป็นใบเซอร์ที่ GIA นิยมออกให้สำหรับเพชรที่มีน้ำหนักมากกว่า 1 กะรัต โดยจะมีแผนภาพประกอบระบุตำแหน่งของตำหนิเพชรอย่างชัดเจน โดยที่อาจจะมีหรือไม่มี Laser Inscription บนขอบเพชรก็ได้ เพราะข้อมูลที่ระบุในใบเซอร์ใหญ่ มีเพียงพอต่อการเปรียบเทียบกับเพชรเม็ดจริงแล้ว

ในบางครั้ง คุณอาจมีโอกาสได้พบกับเพชรที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 1 กะรัต แต่มีใบเซอร์ใหญ่ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ค่าใช้จ่ายในการออกใบเซอร์ใหญ่นั้นสูงกว่าใบเซอร์เล็กพอสมควร คุณจึงมักจะพบเจอใบเซอร์ใหญ่สำหรับเพชรที่ใหญ่กว่า 1 กะรัตเป็นหลัก

GIA Diamond Grading Report

GIA Diamond Dossier

Dossier เป็นใบเซอร์ที่ GIA นิยมออกให้สำหรับเพชรที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 1 กะรัต โดยจะไม่มีแผนภาพประกอบระบุตำแหน่งของตำหนิเพชร แต่ยังคงมี Laser Inscription บนขอบเพชรเพื่อให้คุณสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ด้วยตัวเอง

อัพเดท: เดิมทีเมื่อเดือนมกราคม ปี 2023 ทาง GIA มีนโยบายแทนที่ใบเซอร์ GIA Diamond Dossier แบบกระดาษด้วยระบบออนไลน์ทั้งหมด หลังจากนั้นไม่กี่เดือนต่อมาก็ได้มีประกาศมาอีกครั้งว่าหลังจากวันที่ 9 เมษายน 2023 ทาง GIA จะกลับมาใช้ใบเซอร์แบบกระดาษอีกรอบ เนื่องจากพบว่าเกิดความไม่สะดวกในหลายภาคส่วน ทาง GIA ได้รับฟังความเห็นและตัดสินใจใช้ใบเซอร์ Dossier รูปแบบกระดาษอีกครั้งเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้หากคุณได้รับใบเซอร์แบบดิจิทัลไปในช่วงก่อนหน้า คุณยังคงสามารถดูใบเซอร์แบบดิจิทัลได้เช่นเคยทางเว็บไซต์ gia.edu

GIA Diamond Dossier

วิธีอ่านใบเซอร์ GIA แต่ละส่วน

ก่อนที่เราจะเข้าเรื่อง ผมมีเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆ ที่อยากจะแบ่งปันให้คุณได้ทราบ นั่นก็คือความจริงแล้ว GIA คือสถาบันที่เป็นผู้คิดค้นหลักการให้คะแนนเพชรด้วย 4C’s of Diamonds นั่นเอง

และด้วยความที่หลักการ 4C นี้ สามารถใช้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับเพชรได้อย่างถี่ถ้วน จึงทำให้ได้รับการยอมรับในวงการเพชรอย่างกว้างขวาง สถาบันเพชรอื่นๆจึงได้นำหลักการเดียวกันไปประยุกต์ใช้ สำหรับการให้คะแนนเพชรของตนเองเช่นกัน

เพราะฉะนั้น วิธีการอ่านใบเซอร์ GIA HRD IGI AGS ฯลฯ จะมีความคล้ายคลึงกันมาก เพราะยึดหลักการเดียวกันมาจาก GIA เพียงแต่จะมีบางจุดที่ใช้ศัพท์ต่างกันเพียงเล็กน้อย โดยผมจะอธิบายจากใบเซอร์ GIA เป็นหลัก เพราะคุณคงจะมีโอกาสได้พบเจอเพชร GIA บ่อยกว่าเพชรใบเซอร์จากสถาบันอื่น

เมื่อคุณเรียนรู้วิธีการอ่านใบเซอร์ GIA ได้คล่องแคล่วแล้ว คุณก็จะสามารถอ่านใบเซอร์เพชรสถาบันอื่นได้อย่างง่ายดายครับ

ใบเซอร์เพชร GIA

ใบเซอร์เพชร GIA

1. ส่วนบน: ชื่อสถาบันผู้ออกใบเซอร์

ใบเซอร์ GIA

สิ่งแรกที่คุณควรสังเกต คือชื่อสถาบันผู้ออกใบเซอร์ เพราะมีผลต่อความน่าเชื่อถือในแง่ของความแม่นยำในการให้คะแนนเพชร ซึ่งถ้าหากคุณซื้อเพชรราคาถูกแบบไม่มีใบเซอร์ หรือมีใบเซอร์จากสถาบันที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียง ก็มีความเป็นไปได้ที่การให้คะแนนจะไม่ตรงกับความเป็นจริง

สำหรับวงการเพชรในประเทศไทยแล้ว สถาบันที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ก็คือ GIA และ HRD

เพชรเซอร์ GIA

GIA หรือ Gemological Institute of America เป็นองค์กรแบบไม่แสวงหาผลกำไร ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ. 1931 ในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อและผู้ขายอัญมณี ด้วยมาตรฐานการให้คะแนนเพชรพลอยที่เคร่งคัด จนได้รับการยอมรับว่าเป็นสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดในวงการเพชรพลอย

เพชรเซอร์ HRD

HRD หรือ Hoge Raad voor Diamant (Diamond High Council) เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีพันธกิจเดียวกันกับ GIA โดยก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1973 ในประเทศเบลเยียม และถือเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับมากเป็นอันดับต้นๆในฝั่งยุโรป

GIA เทียบกับ HRD

ถ้าให้ผมพูดถึงเรื่องความน่าเชื่อถือของทั้งสองสถาบัน ก็นับได้ว่าเยี่ยมยอดทั้งคู่ ความแตกต่างหลักๆที่คุณจะได้พบเจอในฐานะผู้ซื้อ คือเพชร HRD จะได้รับการซีลอยู่ภายในแผงพลาสติกอย่างแน่นหนาตั้งแต่ออกจากแล็บ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ซื้อ ในขณะที่เพชร GIA จะมาเป็นเพชรร่วงในซองกระดาษที่แนบมากับใบเซอร์

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่คุณจำเป็นต้องกังวล ว่าจะได้รับเพชรที่ไม่ตรงใบเซอร์ เพราะทั้งสองสถาบันจะสลักเลขใบเซอร์ลงบนขอบเพชร เพื่อให้คุณสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ในภายหลังอยู่แล้ว

โดยทั่วไป เพชรใบเซอร์ GIA จะมีมูลค่าสูงกว่าเพชร HRD ประมาณ 5-10% เนื่องจาก GIA เป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงเหนือกว่า จึงได้รับความนิยม (Demand) มากกว่า

2. เลขใบเซอร์ รูปทรงเพชร และสัดส่วน

ใบเซอร์ GIA

เลขใบเซอร์

รายละเอียดต่อไปที่คุณจะได้พบ คือเลขใบเซอร์ (Report Number) ซึ่งเปรียบเสมือน Serial Number ที่ใช้สำหรับระบุข้อมูลของเพชรแต่ละเม็ด โดยจะมีเลขเดียวกันกับที่คุณจะพบบนเลเซอร์ขอบเพชร (Laser Inscription)

ทั้งสถาบัน GIA และ HRD จะเก็บข้อมูลทั้งหมดไว้ในคลังข้อมูลออนไลน์ โดยคุณสามารถเข้าเว็บไปตรวจสอบได้ทุกเมื่อ ดังนี้:

หากคุณทำใบเซอร์เพชรหายก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะคุณสามารถนำเพชรไปให้สถาบันนั้นๆออกใบเซอร์ให้ใหม่ได้ (มีค่าใช้จ่าย)

รูปทรงเพชร และสัดส่วน

ในบรรทัดต่อมา คุณจะพบข้อมูลเกี่ยวกับรูปทรงเพชร และสัดส่วนของเพชรที่วัดด้วยหน่วยมิลลิเมตร

เพชรที่คนส่วนใหญ่นิยมซื้อ คือ เพชรกลม โดยในใบเซอร์จะระบุเป็นภาษาอังกฤษว่า Round Brilliant

3. หัวใจสำคัญ: 4C’s of Diamonds

ใบเซอร์ GIA

ส่วนต่อมา เป็นส่วนที่มีความสำคัญมากที่สุดเกี่ยวกับเพชร นั่นก็คือรายละเอียดเกี่ยวกับ 4C: Carat, Color, Clarity และ Cut เรียงตามลำดับ

Carat

เพชรขนาดต่างๆ วัดเป็นมิล

Carat หมายถึงน้ำหนักของเพชร ซึ่งวัดเป็นหน่วยกะรัตเสมอ (1 กะรัต = 0.2 กรัม) โดย 1 กะรัตจะมีค่าเท่ากับ 100 ตัง (ความหมายเดียวกันกับ 1 บาทที่แปลงได้เป็น 100 สตางค์) หลายคนนิยมเรียกน้ำหนักเพชรด้วยหน่วยตังกันจนคุ้นเคย เช่น เพชร 50 ตัง ก็คือเพชร 0.50 กะรัตนั่นเอง

น้ำหนักกะรัตของเพชร จะส่งผลต่อความใหญ่ของเพชรโดยตรง ยิ่งกะรัตมากเท่าไรเพชรก็จะยิ่งเม็ดใหญ่มากเท่านั้น

Color

เพชรน้ำต่างๆ เรียงลำดับ

Color คือการวัดว่าเพชรมีความขาวมากแค่ไหน ซึ่งความขาวนี้จริงๆแล้วหมายถึงการไม่มีสี แต่หากมีสีเจือปนก็จะออกเป็นสีเหลือง โดยจะวัดด้วยมาตรฐาน D to Z Grading เรียงจาก D Color ลงมาดังนี้:

  • D Color = เพชรน้ำ 100%
  • E Color = เพชรน้ำ 99%
  • F Color = เพชรน้ำ 98%
  • G Color = เพชรน้ำ 97%
  • H Color = เพชรน้ำ 96%
  • I Color = เพชรน้ำ 95%

คุณสามารถไล่เปอร์เซ็นต์น้ำเพชรลงไปได้เรื่อยๆ ด้วยหลักการเดียวกับการท่อง ABC ในสมัยเด็ก โดยสำหรับเพชรจะไม่มี ABC แต่จะเริ่มต้นด้วย D เป็นตัวอักษรแรก ไปจนถึง Z เป็นอักษรสุดท้าย

เพราะฉะนั้นเพชร D Color คือเพชรที่ขาวที่สุดและมีมูลค่าสูงที่สุด ส่วนเพชร Z Color คือเพชรที่เหลืองและมีมูลค่าน้อยที่สุด

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเพชรสีเหลืองจะไม่ดี เพราะหากเพชรมีสีเหลืองมากจนพ้น Z Color ไปแล้ว จะใช้เป็น Fancy Color Grading Scale แทน ซึ่งโดยทั่วไปเพชร Fancy Color จะมีราคาสูง และหายากมากๆ

อ่านเพิ่มเติม: เพชรน้ำ 100% / D Color น่าซื้อไหม? ซื้อเพชรทั้งทีต้องให้คุ้ม!

Clarity

ตำหนิเพชรชนิดต่างๆ

Clarity หมายถึงความสะอาดของเพชร โดยนักอัญมณีศาสตร์จะเป็นผู้ให้คะแนนด้วยกล้องขยาย 10 เท่า เพื่อวิเคราะห์หาตำหนิ จุดดำ หรือร่องรอยอันไม่พึงประสงค์ภายในเพชร

โดยทั่วไป Clarity ของเพชรที่ผมแนะนำให้คุณซื้อสะสม จะอยู่ระว่าง VVS1/2 – VS1/2 เพราะเป็นคุณภาพที่ถือว่าสะอาด และมีมูลค่าสมราคาที่สุด หากต่ำลงไปมากกว่านี้ เช่น SI คุณจะมีโอกาสมองเห็นตำหนิบนเพชรได้ด้วยตาเปล่าแบบง่ายๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณคงไม่อยากให้มีบนเพชรของคุณอย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม: ความสะอาดของเพชร ตำหนิเพชร VS VVS SI เรื่องที่คุณต้องรู้!

Cut

คุณภาพการเจียระไนเพชร

Cut นั้นหมายถึงคุณภาพในการเจียระไนเพชร ซึ่งจะมีระบุตั้งแต่ Excellent ไปจนถึง Poor ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ส่วนของการที่จะเป็นเพชร 3 Excellent

หากคุณมีเพชรกลมทรงมาตรฐานแบบที่มี 57 เหลี่ยม และเป็นใบเซอร์ที่ออกหลังปีค.ศ. 2006 ก็จะมี Cut Grade ระบุไว้อย่างชัดเจน

หลายคนอาจให้ความสำคัญกับ Color เป็นหลัก โดยเฉพาะเพชร D Color (น้ำ 100%) เพราะใครๆก็ชอบให้เพชรดูขาวไว้ก่อน บ่อยครั้งที่คุณคงจะได้เห็นเพชรขาว แต่กลับดูแล้วหมองๆ ไม่เล่นไฟ นั่นก็เป็นเพราะ Cut ยังไม่ดีพอนั่นเอง

สำหรับมืออาชีพส่วนใหญ่รวมไปถึงผม จึงให้ความสำคัญกับ Cut มากที่สุดใน 4C’s of Diamonds ทั้งหมด เพราะจะส่งผลต่อประกาย และความเล่นไฟของเพชรโดยตรงครับ

เพราะฉะนั้น เพชรทุกเม็ดที่ผมคัดเลือกให้ลูกค้า ส่วนใหญ่จะเป็นเพชร 3 Excellent เพราะว่าจะเล่นไฟได้ดีกว่าเพชรที่เป็นเกรดรอง

อ่านเพิ่มเติม: เพชร 3 EX คืออะไร? ทำความรู้จักกับ เหลี่ยมเพชร กันดีกว่า!

4. ข้อมูลเพิ่มเติม และหมายเหตุ

ใบเซอร์ GIA

Polish และ Symmetry เป็นอีก 2 ใน 3 ปัจจัยสำคัญของเพชรที่จะเป็น 3 Excellent

Polish

Polish นั้นหมายถึงความเรียบของพื้นผิวเพชร หากเพชรมีพื้นผิวเรียบเนียนก็จะทำให้สามารถสะท้อนไฟได้อย่างชัดเจน และไม่ดูผิดเพี้ยนไป ถ้าให้ผมเปรียบเทียบ ก็คงจะคล้ายกับการส่องไฟลงบนกระจกเรียบๆ ซึ่งจะสะท้อนแสงได้ดีกว่าการส่องไฟลงบนกระจกที่มีเม็ดทรายโปรยอยู่

Symmetry

Symmetry คือความสมมาตรของหน้าเพชรทั้งหมด ว่าดูแล้วมีความเท่าเทียมกันแค่ไหน เมื่อมองจากมุมต่างๆ เพชรที่มีความสมมาตรดีเวลาส่องไฟลงไปแล้ว แสงจะตกกระทบตามองศาได้อย่างถูกต้อง ทำให้ดูมีประกายไฟมากกว่าเพชรที่ไม่สมมาตร

Fluorescence

เพชร non flu กับ เพชรติดฟลู

Fluorescence หมายถึง ปฏิกิริยาที่เพชรแสดงออกมา เมื่อได้รับการกระตุ้นจากแสง UV

โดยทั่วไป เพชรที่ติด Fluorescence จะดูแล้วออกเป็นสีฟ้าๆ เพราะฉะนั้นเพชรที่ไม่ติด Fluorescence จึงได้รับความนิยมมากกว่าเพชรที่ติด Fluorescence

หากเป็นเพชรที่ไม่ติด Fluorescence ในใบเซอร์ GIA จะระบุว่า None (ไม่มี) ในขณะที่ใบเซอร์ HRD จะระบุว่า Nil (ปราศจาก) ซึ่งทั้งสองคำมีความหมายเหมือนกัน

อ่านเพิ่มเติม: เพชรมี Fluorescence คือ อะไร? ดีหรือไม่ดี? เปิดเผยความลับที่คุณจำเป็นต้องรู้!

Inscription

เลเซอร์ขอบเพชร GIA

ส่วนนี้ จะเป็นส่วนที่บอกว่าบนขอบเพชรของคุณมีการยิงเลเซอร์อะไรลงไปบ้าง ซึ่งโดยปกติแล้ว เพชรที่มีใบเซอร์จะยิงคำว่า GIA พร้อมตัวเลข 10 หลัก ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับ GIA Report Number เพื่อให้คุณตรวจสอบได้ในภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม: เพชร H&A คืออะไร? สิ่งที่คุณต้องรู้เรื่อง Hearts and Arrows

Comments

ส่วนนี้จะเป็นการระบุรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อขยายความในส่วนของ Clarity ว่าเพชรเม็ดนั้นมีตำหนิรูปร่างเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นส่วนที่ผมไม่ได้ให้ความสำคัญสักเท่าไร

5. แผนภาพตำหนิ

ใบเซอร์ GIA

เช่นเดียวกับลายนิ้วมือของคนเรา บนโลกนี้จะไม่มีเพชรแท้เม็ดไหน ที่จะเหมือนกันได้ 100% ซึ่งนี่ก็เป็นเสน่ห์ข้อหนึ่ง ที่ทำให้ใครหลายคนรักในการสะสมเพชรแท้

Proportions

ในส่วนนี้ จะมีข้อมูลที่ระบุถึงสัดส่วนต่างๆของเพชรไว้เป็นเปอร์เซ็นต์ โดยข้อมูลหลักๆจะมี Table % (หน้ากว้าง), Depth % (ความลึก), Angles (องศาต่างๆ) และ Girdle Thickness (ความหนาของขอบเพชร)

สิ่งสำคัญที่คุณควรสังเกต คือ Table % เพราะหมายถึงหน้ากว้างของเพชร จากประสบการณ์ส่วนตัว Table % ที่ผมแนะนำและใช้เป็นหลัก จะอยู่ระหว่าง 54% – 60% (ดูประกอบกับ Proportions เป็นกรณีๆไป) เพราะเป็นสัดส่วนที่ทำให้เพชรดูสมส่วนและเล่นไฟได้ดีที่สุด ถ้าหากน้อยกว่านี้จะทำให้หน้าเพชรดูเล็กเกินไปไม่ค่อยรับแสง แต่ถ้าหากใหญ่กว่านี้จะทำให้ หน้าเพชรกว้างเกินไปจนเสียสมดุล

นอกจากนี้คุณควรจะตรวจสอบในส่วนของ Cutlet (ก้นเพชร) ว่าเป็น None (ไม่มี) เพราะการมีก้นเพชรหนาจะทำให้แสงไฟที่สอดส่องเข้าไปในเพชรลอดออกมา ส่งผลให้เล่นไฟได้ไม่ดีเท่าที่ควร

Clarity Characteristics

ในใบเซอร์ใหญ่ จึงมีการระบุตำแหน่งของตำหนิไว้บน Clarity Plot Diagram เพื่อให้คุณสามารถดูลักษณะพิเศษของเพชรเม็ดนั้นได้อย่างสะดวก

Blemishes (ตำหนิภายนอก) จะระบุไว้ด้วยหมึกสีเขียว ในขณะที่ Inclusions (ตำหนิภายใน) จะระบุไว้ด้วยหมึกสีแดง

อ่านเพิ่มเติม: Clarity Characteristics: เจาะลึกใบเซอร์ จุดที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้

Good VVS/VS: สิ่งที่คุณไม่ควรมองข้าม

โดยทั่วไป เพชรที่ไม่ใช่ IF (ไร้ตำหนิ) จะต้องมีตำหนิทุกเม็ด ซึ่งความมากน้อยของตำหนิก็จะขึ้นอยู่กับ Clarity เช่น เพชร VVS ก็จะมีตำหนิให้เห็นน้อยกว่า VS และ SI ตามลำดับ

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเพชร VVS หรือ VS ทุกเม็ดจะมีตำหนิอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน เพราะบ่อยครั้งที่คุณจะได้พบกับเพชร VVS หรือ VS แต่มีตำหนิขึ้นอยู่ที่หน้าเพชร ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์

เพชรที่ดีไม่ควรจะมีตำหนิขึ้นหน้า แต่ควรจะหลบอยู่มุมอื่นแทน เมื่อนำเพชรไปใส่ตัวเรือนก็จะสามารถบดบังตำหนิได้อย่างมิดชิด โดยในวงการจะเรียกเพชรเหล่านี้ว่า Good VVS หรือ Good VS

ส่วนตัวแล้ว เพชรทุกเม็ดจะต้องผ่านตาผม ก่อนที่จะส่งมอบให้ลูกค้า โดยผมจะคัดเลือกให้เฉพาะเพชรที่เป็น Good VVS และ Good VS ซึ่งถึงแม้ว่าในเพชร 100 เม็ดจะมีเพียง 1 ถึง 2 เม็ดที่มีคุณสมบัติดังนี้ ผมก็ตั้งใจและยินดีทำให้ เพื่อให้ลูกค้าของผมได้รับเพชรเม็ดที่งดงามที่สุด

6. เครื่องหมายกันปลอมแปลง

ใบเซอร์ GIA

ส่วนสุดท้าย ที่คุณควรจะมองหาคือเครื่องหมายตาประทับของสถาบัน (Security Marks) เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นใบเซอร์ของแท้จริงๆ

สำหรับสถาบัน GIA จะปั๊มด้วยเครื่องหมายโลโก้นูนหมึกสีทอง แบบที่ดูแล้วมีเอกลักษณ์ลอกเลียนแบบยาก ซึ่งเมื่อคุณได้เห็นของจริงแล้ว จะทราบได้อย่างง่ายดายว่าเป็นของแท้

สรุป: ใบเซอร์เพชร คือเครื่องการันตีที่จะทำให้คุณสามารถซื้อเพชรได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น

ทีนี้คุณก็คงจะได้ทราบแล้ว ว่าข้อดีของการซื้อเพชรที่มีใบเซอร์เป็นอย่างไร รวมไปถึงความแตกต่างของประเภทของใบเซอร์ทั้งแบบใหญ่และเล็ก อีกทั้งยังได้เรียนรู้ถึงขั้นตอนในการอ่านวิเคราะห์ใบเซอร์แต่ละส่วนอย่างละเอียด

เพราะฉะนั้น เมื่อคุณมีโอกาสซื้อเพชรในครั้งต่อไป ถ้าจะให้มองหาแค่เพชร D Color หรือ 3 Excellent ก็คงจะไม่เพียงพอหากคุณต้องการเพชรที่สวยอย่างแท้จริง

เพราะความจริงแล้ว ยังมีปัจจัยอีกมากมาย ที่จะส่งผลโดยตรงต่อมูลค่า และความงามของเพชรที่คุณกำลังตัดสินใจซื้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Fluorescence, Good VVS/VS, Table, Depth, Cutlet, Girdle ฯลฯ ซึ่งคงจะเป็นรายละเอียดยิบย่อย ที่ผู้ขายท่านอื่นอาจไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร

แต่สำหรับเพชรทุกเม็ดที่คุณจะได้รับจากผม นี่คือที่สุดแห่งมาตรฐานของวงการเพชร (First-Class Standard) ที่ผมตั้งใจมอบให้คุณอย่างจริงใจเสมอครับ หากคุณมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอ่านใบเซอร์ สามารถติดต่อเรา ได้เลยครับ

อโบฟยินดีให้บริการคุณเสมอ

พูดคุยกับนักอัญมณีอโบฟไดมอนด์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของท่าน กรุณาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก