อัพเดทล่าสุด 23/05/2023 โดย Above Diamond

เพชร CVD คือเพชรแท้ไหม? ทุกสิ่งที่คุณต้องรู้ก่อนซื้อ [เจาะลึก]

เพชร cvd lab grown ต่างกันยังไง

แชร์บทความนี้

เพชร CVD HPHT กับ เพชรธรรมชาติ ต่างกันอย่างไร เปรียบเทียบข้อดี-ข้อด้อย เราจะมาไขข้อข้องใจทั้งหมดในบทความนี้

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีเพชรทางเลือกมากมายหลากหลายรูปแบบออกมาสู่ตลาดเครื่องประดับ คู่รักจึงมีทางเลือกในการซื้อแหวนหมั้น แหวนแต่งงาน ด้วยตัวเลือกเพชรหลายชนิดยิ่งขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ เพชรแล็บ หรือ Lab-Grown Diamond (เพชร CVD/HPHT) นั่นเอง

เพชรแล็บเหล่านี้ ได้กลายเป็นที่เริ่มสนใจมากขึ้นในบางประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากความเหมือนกับเพชรธรรมชาติ เพราะเป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะสามารถแยกแยะได้ด้วยตาเปล่า หากไม่มีเครื่องมือพิเศษในการช่วยตรวจ

อีกทั้งยังมีราคาเพชรที่ต่ำกว่าเพชรธรรมชาติถึง 60-70% เพราะฉะนั้นหากคุณกำลังสงสัยว่าเพชร CVD 1 กะรัตราคาเท่าไรก็จะสามารถเปรียบเทียบได้ง่ายขึ้นเมื่อทราบราคาเพชรธรรมชาติ 1 กะรัต หลายท่านที่มีงบจำกัดจึงหันมาให้ความสนใจเพชรแล็บเพราะอาจได้เพชรกะรัตที่ใหญ่ขึ้น 2-3 เท่า ในงบเดียวกัน

ในขณะที่ประเทศไทย เพชรแล็บเพิ่งจะเป็นที่รู้จัก ในบทความนี้ Above Diamond ซึ่งจำหน่ายเฉพาะเพชรแท้จากธรรมชาติ จึงตั้งใจรวบรวมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเพชร Lab-Grown โดยต้องขอขอบคุณข้อมูลเพชรแล็บจาก คุณเมย์ Maye Diamond (Lab-Grown Diamond Specialist) เพื่อนำมาเปรียบเทียบข้อดี-ข้อด้อย อย่างเป็นกลางที่สุด สำหรับผู้ที่สนใจซื้อเครื่องประดับ รวมถึงนักลงทุนเพชรให้มีความรู้ในการใช้ตัดสินใจเลือกซื้อได้ดียิ่งขึ้น

ก่อนที่เราจะเปรียบเทียบว่าข้อดี ข้อด้อยของแต่ละประเภท เราจำเป็นต้องอธิบายต้นกำเนิดของเพชรทั้งสองประเภทก่อน เพื่อไขข้อข้องใจของหลายๆท่านว่าวิธีดูเพชรแท้ใช้เกณฑ์อะไร แล้วเพชร Lab-Grown ใช่เพชรแท้หรือไม่

เพชร cvd lab grown ต่างกันยังไง

เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เราจึงขอจำแนกเพชรเป็น 3 ประเภทหลักๆดังนี้:

  1. เพชรธรรมชาติ หรือเพชรแท้ (Natural Diamond)
  2. เพชรสังเคราะห์ (CZ, Moissanite)
  3. เพชรแล็บ (CVD, HPHT)

เพชรธรรมชาติ ต้นกำเนิดจากธรรมชาติที่แท้จริง

เพชรธรรมชาติ เกิดขึ้นจากการก่อตัวขึ้นเมื่อหลายล้านปีก่อนลึกลงไปใต้เปลือกโลก ภายใต้ผื้นผิวโลกที่มีความร้อนและความดันที่สูงมาก ซึ่งทําให้อะตอมของคาร์บอนตกผลึกกลายเป็นเพชร ในระดับความลึกประมาณ 150-200 กม. ใต้พื้นผิวโลก ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ย 900-1,300°C และแรงดันอยู่ที่ 45-60 กิโลบาร์ (ซึ่งประมาณ 50,000 เท่าของความดันบรรยากาศที่พื้นผิวโลก)

ภายใต้สภาพแวดล้อมแบบนี้จึงมีการตกผลึกกลายมาเป็นเพชร รูปผลึกทรงแปดด้าน ใส มีสีต่างๆจนถึงไม่มีสี และถือว่าเป็นอัญมณีที่แข็งที่สุด เพชรถูกนำขึ้นมาจากใต้พื้นดินโดยผ่านการปะทุของหินหนืด (magma) ขึ้นมาสู่ผิวโลก

รูปทรงเพชรดิบ

เพชรสังเคราะห์ vs. เพชรแล็บ CVD HPHT ต่างกันอย่างไร?

เพชรสังเคราะห์ (CZ, Moissanite)

เพชรสังเคราะห์ เพชร CZ (Cubic Zirconia) หรือที่เรารู้จักกันในนาม เพชรรัสเซีย หรือเพชรสวิส เดิมทีได้รับการคิดค้นขึ้นเพื่อใช้ทดแทนสำหรับเพชรธรรมชาติ เพื่อใส่บนเครื่องประดับเงินหรือแนวแฟชั่นที่เพราะมีราคาถูก ส่วนใหญ่จะใช้กับเครื่องประดับในงบหลักร้อยถึงหลักพัน เพราะมีคุณสมบัติที่มองเห็นด้วยตาเปล่าคล้ายกับเพชรธรรมชาติ ทำให้ผู้ซื้อเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

เพชร CZ ในยุคแรกถูกนำมาหลอกขายให้กับผู้ซื้อมากมายในราคาสูงเหมือนเพชรแท้ ซึ่งก็มีผู้เคราะห์ร้ายจำนวนมากมายที่หลงเชื่อ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปก็มีผู้ที่รู้เรื่องนี้มากขึ้น เนื่องจากเพชร CZ นั้นสามารถแยกแยกได้ด้วยตาเปล่าไม่ยากหากเป็นผู้เชี่ยวชาญ

หลังจากนั้นจึงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เพชรสังเคราะห์มีลักษณะใกช้เคียงกับเพชรแท้มายิ่งขึ้น จึงเกิดเป็นเพชรโมอีส หรือชื่อเต็มๆ ว่าเพชรมอยส์ซอไนต์ (Moissanite) ซึ่งเกิดจากแร่ซิลิคอนคาร์ไบต์ (Silicon Carbide) ซึ่งเป็นแร่ที่หายาก ค้นพบครั้งแรกที่หลุมอุกกาบาต เพชรเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีความสวยมากกว่าเพชร CZ เล่นไฟมากกว่า เหลี่ยมสวยกว่า แต่ก็ยังสามารถดูออกได้ไม่ยากนัก

สรุปคือ ถึงแม้ว่าเพชรสังเคราะห์ และเพชรแล็บที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ เกิดขึ้นจากห้องห้องทดลองเหมือนกัน แต่คุณสมบัติหลายอย่างที่แตกต่างกัน เช่น แร่ธาตุภายใน หรือการเล่นไฟที่ดีไม่เท่ากัน โดยเพชรโมอีสจะเล่นไฟได้ไม่ดีเท่ากับเพชรธรรมชาติและเพชรแล็บ เป็นต้น นอกจากนี้เรายังสามารถแยกแยะเพชรสังเคราะห์ได้ด้วยตาเปล่าอีกด้วย

เพชรแล็บ (HPHT, CVD)

เพชร Lab-Grown เป็นการพัฒนาอีกขั้นของนวัตกรรม เพชร Lab-Grown เกิดจากการตกผลึกของธาตุคาร์บอนในห้องทดลองที่ถูกควบคุมให้อยู่ภายใต้สภาวะที่คล้ายคลึงกันกับการเกิดของเพชรธรรมชาติ โดยที่เพชร Lab-Grown นั้นสามารถเพาะขึ้นได้จาก 2 วิธีด้วยกัน ดังนี้

1. เพชร HPHT (High-Pressure High Temperature)

เพชร HPHT เป็นวิธีการในยุคแรกๆของการผลิตเพชร Lab-Grown โดยเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950s นอกเหนือจากผลิตเพชรแล้ว กระบวนการผลิตเพชร HPHT ยังสามารถใช้เพื่อปรับแต่งความสะอาดและสีเพชรของเพชรธรรมชาติให้น้ำสูงขึ้น หรือมีสีสันต่างๆ เช่น ชมพู เขียว น้ําเงิน หรือเหลือง เป็นต้น

วิธีการสร้างเพชร HPHT คือการนำเมล็ดเพชรขนาดเล็กจะถูกวางลงในคาร์บอน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเพาะเพชร เมล็ดเพชรสัมผัสกับความร้อนและแรงกดสูง โดยจําลองวิธีที่เพชรเติบโตตามธรรมชาติใต้พื้นผิวโลก เมื่อสัมผัสกับความร้อนสูงถึง 1,500°C และแรงดันที่สูงมาก คาร์บอนจะละลายและก่อตัวเป็นเพชรรอบเมล็ด เมื่อก้อนเพชรเย็นลงก็จะกลายเป็นเพชรคาร์บอนบริสุทธิ์ ในรูปทรง 14 เหลี่ยม (cuboctahedron)

2. เพชร CVD (Chemical Vapor Deposition)

เพชร CVD ได้รับการคิดค้นขึ้นในห้องแล็บในปี ค.ศ.1980s ซึ่งถือว่าเป็นวิวัฒนาการที่ใหม่กว่า HPHT เพราะใช้แรงดันน้อยกว่าและเครื่องจักรที่เล็กกว่าในการผลิต ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ถูกลงมาก

วิธีการสร้างเพชรแบบ CVD คือการนำเมล็ดเพชรใส่ในห้องระบบปิดที่มีความร้อนสูงถึง 800°C อัดก๊าซที่มีคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป จนแตกตัวเป็นไอออน ส่งผลให้คาร์บอนบริสุทธิ์ลอยไปเกาะตัวกับเมล็ด และค่อยๆตกผลึกกลายเป็นเพชรในรูปทรงลูกบาศก์

ระหว่างเพชรแล็บ HPHT กับ CVD ต่างกันอย่างไร

เพชร hpht กับ cvd ต่างกันยังไง

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วเพชร CVD กับ HPHT แทบจะไม่มีความแตกต่าง นอกจากกระบวนการเพาะเพชรในแล็บที่แตกต่างกัน เพราะหลังจากที่เพชรได้รับการเจียระไนแล้ว เราแทบจะไม่สามารถบอกความแตกต่างระหว่างเพชร HPHT กับ CVD ได้เลย เนื่องจากทั้งสองวิธีสามารถผลิตเพชรน้ำสูง เช่น 98-100 (F to D color) และความสะอาดระดับสูง (VS2 to VVS1 Clarity) ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

ยิ่งเมื่อเราเจาะลึกไปถึงโครงสร้างภายในก็คงจะต้องปวดหัวกันเปล่าๆแน่ เพราะในความเป็นจริงแล้วบางครั้งเพชร CVD ก็สามารถนำไปปรับสีหรือแม้กระทั้งความสะอาดได้ด้วยวิธี HPHT ต่อเพื่อให้ได้เพชรที่สวยขึ้นไปอีก ซึ่งแปลว่าเพชรแล็บหนึ่งเม็ด สามารถเป็นได้ทั้ง CVD และ HPHT ได้ในเม็ดเดียวกันนั่นเอง


ทั้งนี้ กรณีเป็นเพชรธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการ HPHT ในใบเซอร์จะระบุในคอมเมนต์ว่ามีการทำ HPHT เพราะฉะนั้นในส่วนนี้หากคุณตั้งใจซื้อเพชรธรรมชาติก็สบายใจได้

ตารางสรุป: เปรียบเทียบเพชรธรรมชาติกับเพชรแล็บ

เพชรธรรมชาติ (Natural)เพชรแล็บ (Lab-Grown)
องค์ประกอบทางเคมีคาร์บอนคาร์บอน
เครื่องตรวจเพชรผ่านผ่าน
ความแข็งแรง (Mohs)10/1010/10
แหล่งกำเนิดใต้พื้นผิวโลกห้องแล็บ
ระยะเวลาตกผลึกหลายล้านปีไม่กี่สัปดาห์
ราคา฿฿฿฿฿
ราคาเพชร วันนี้
฿฿
60-70% จากเพชรธรรมชาติ
ถูกหลักจริยธรรมขึ้นอยู่กับเหมือง*ใช่

*หมายเหตุ: อโบฟไดมอนด์ มีเงื่อนไขที่เคร่งคัดในการเลือกร่วมงานเฉพาะกับเหมืองที่ได้รับการรับรองด้านคุณธรรมที่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมสากล

จึงสรุปได้ว่า เพชร Lab-grown ไม่ว่าจะสร้างขึ้นด้วยวิธี HPHT หรือ CVD ก็มีคุณสมบัติทางกายภาพและการจับตัวทางเคมีเช่นเดียวกับเพชรธรรมชาติ ซึ่งในบางสำนักอาจเหมารวมว่าเป็นเพชรแท้เหมือนกัน ข้อแตกต่างเพียงอย่างเดียวนั่นก็คือเพชร Lab-grown เกิดจากการสร้างขึ้นโดยมนุษย์และควบคุมในห้องปฏิบัติการ ในขณะที่เพชรธรรมชาติถูกสร้างขึ้นจากใต้ผิวโลกนั้นเอง

หรือหากจะให้ยกตัวอย่างง่ายๆก็คือ เพชรธรรมชาติเปรียบเสมือนกับต้นไม้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติโดยผ่านกาลเวลา ส่วนเพชรแล็บคือการนำเมล็ดพืชไปเพาะปลูกอยู่ในห้องแล็บโดยการใส่ปุ๋ยเคมี และควบคุมแสงแดดและอากาศให้เติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งสองก็ต่างเป็นต้นไม้เหมือนกัน แต่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเรื่องแหล่งกำเนิดและระยะเวลา

เทียบข้อดี-ข้อด้อย เพชรธรรมชาติ vs. เพชร Lab-grown

แหวนเพชรเม็ดเดี่ยว

ข้อดีของเพชรธรรมชาติ

  1. มูลค่าของเพชรธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ยิ่งเพชรมีความสวยในเรื่องของขนาด น้ำ ความสะอาด และการเจียระไนดีเท่าไหร่ ก็จะยิ่งหายากมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นผลดีต่อราคาในอนาคตด้วย จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่สนใจเรื่อง Passion Investment
  2. เพชรธรรมชาติมีประวัติที่ยาวนาน สวมใส่กันโดยผู้นำและผู้มีบารมีตั้งแต่เมื่อหลายพันปี รวมถึงมีการซื้อขายมานานหลายร้อยปี จึงมีตลาดที่กว้างขวาง ราคามีมาตรฐานและเสถียรภาพ เป็นที่ยอมรับโดยผู้คนส่วนใหญ่
  3. ผู้คนให้การยอมรับและยังมีคุณค่าทางจิตใจสำหรับผู้รับ เนื่องจากเพชรแท้ธรรมชาติจะยิ่งหายากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้หากคุณต้องการซื้อเพชรธรรมชาติ ก็ควรเลือกเพชรที่มีใบเซอร์ เช่น GIA เพื่อที่คุณจะได้ทราบถึงรายละเอียดที่แท้จริงที่ตรงกับเพชรที่คุณได้รับ

ข้อด้อย:

เมื่อคุณมีความตั้งใจว่าจะลงทุนซื้อเพชรธรรมชาติ จำเป็นต้องไว้ใจเลือกร้านที่น่าเชื่อถือเนื่องจากในยุคหลังนี้ มีข่าวเกิดขึ้นมากมายว่ามีผู้ขายบางรายนำเพชรแล็บมาจำหน่ายในราคาไม่แพง โดยเคลมว่าเป็นเพชรธรรมชาติ เพราะไม่สามารถแยกแยะได้ด้วยตาเปล่า เพราะฉะนั้นจึงแนะนำให้คุณซื้อเพชรที่มีใบเซอร์ เพราะใบเซอร์จะบ่งบอกถึงแห่งที่มาว่าเป็นเพชรธรรมชาติตรงตามที่คุณต้องการจริงๆ

แหวนเพชรปริ้นเซสคัท

ข้อดีของเพชรแล็บ

  1. มีคุณสมบัติทางเคมีคล้ายกับเพชรแท้เกินกว่า 99% รวมถึงการเล่นไฟในแบบเดียวกันกับเพชรธรรมชาติ จึงสามารถใช้หลัก 4Cs ในการเมินคุณภาพเพชรได้ และยากต่อการแยกแยะด้วยตาเปล่า หากไม่มีเครื่องมือตรวจพิเศษ
  2. อาจเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับเพชรธรรมชาติในสเปคเดียวกัน เพราะมีราคาที่ย่อมเยากว่า 60-70% จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการใส่เพชรเม็ดใหญ่ในงบสบายกระเป๋า เช่น คุณอาจซื้อเพชรแล็บ 3 กะรัตได้ในงบประมาณใกล้เคียงกันกับเพชรธรรมชาติ 1 กะรัต
  3. การปลูกเพชร Lab-grown เป็นสร้างจากห้องทดลอง จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า เพราะไม่ต้องมีการขุดเหมือง จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ

ข้อด้อย:

เนื่องจากเพชรแล็บสามารถผลิตออกมาได้เรื่อยๆ อย่างไม่มีจำกัด อีกทั้งยังมีแล็บที่สร้างขึ้นใหม่จำนวนมากเข้ามาสู่ตลาดมากขึ้น ทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว จึงอาจไม่เหมาะต่อการซื้อเพื่อลงทุนในระยะยาว

ความแข็งแรง และการรับรองใบเซอร์

เพชรธรรมชาติมีความแข็งแรงและทนทานมากกว่าอัญมณีประเภทอื่นๆ และได้รับคะแนนถึง 10 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนที่สูงที่สุดจาก Mohs Scale of Hardness เช่นเดียวกับเพชรแล็บ ที่ได้ 10 คะแนนเหมือนกัน จึงถือได้ว่าทั้งเพชรธรรมชาติและเพชรแล็บ เป็นอัญมณีที่ทนทานที่สุดที่สามารถสวมใส่ได้จริงทุกวัน เพราะยากต้องการสึกหรอ



แล้วเราจะสามารถรู้ได้อย่างไรว่าอันไหนคือเพชรธรรชาติหรือเพชร Lab-grown หากมองด้วยตาเปล่าแล้ว เราไม่สามารถมองออกได้เลย หรือแม้กระทั้งผู้เชี่ยวชาญทางด้านอัญมณีเองก็ไม่สามารถบอกได้ การที่จะระบุแหล่งที่มานั้น ต้องใช้วิธีการดูใบเซอร์ หรืออาจอาศัยอุปกรณ์ตรวจสอบเพชรอื่นๆ

ใบเซอร์เพชร gia igi

4 วิธีแยกแยะเบื้องต้นระหว่าง เพชรธรรมชาติ กับ เพชรแล็บ

  1. เพชร Lab-grown สามารถที่จะควบคุมความสะอาดให้อยู่ในระดับสูง หรือไม่มีตำหนิได้
  2. เพชร Lab-grown มักจะทำออกมาให้อยู่ในโซนน้ำสวย (D-E-F Color) หรือเพชรไม่มีสี (Colorless) เพื่อให้ดูขาวใสยิ่งขึ้น
  3. หากเจอเพชรที่ราคาดีเกินความเป็นจริง (ต่ำกว่าราคาเพชรธรรมชาติ 60-70%) คุณก็สามารถสันนิษฐานได้ว่ามีโอกาสที่จะไม่ใช่เพชรธรรมชาติ
  4. วิธีที่ง่ายที่สุดในการเลือกซื้อเพชร คือการดูแหล่งกำเนิดของเพชรจากใบเซอร์ที่ได้รับการรองรับจากสถาบันที่ น่าเชื่อถืออย่าง GIA / IGI ว่าเป็นเพชรธรรมชาติ หรือเพชรแล็บ เพราะในใบเซอร์จะมีรายละเอียดชี้แจงอย่างชัดเจน

สรุป: เลือกซื้อเพชรที่ตรงตามความชอบของคุณ

ท้ายที่สุดนี้ Above Diamond ขอย้ำในจุดยืนอีกครั้ง ว่าเราเลือกใช้เฉพาะเพชรแท้จากธรรมชาติเท่านั้น และเน้นเพชรที่ได้รับการรับรองจากสถาบัน GIA เพราะเป็นสถาบันอัญมณีที่มีชื่อเสียงอันดับ 1 อีกทั้งเรายังมีนักอัญมณีศาสตร์ที่คอยให้คำแนะนำอย่างจริงใจ เพื่อให้คุณได้ลงทุนในเพชรธรรมชาติที่มีคุณภาพ และได้รับข้อมูลที่ถูกต้องอย่างโปร่งใส

โดยสรุปก็คือ เพชรธรรมชาติ กับเพชรแล็บ แตกต่างกันที่แหล่งและกระบวนการกำเนิด ถึงแม้จะมีคุณสมบัติทางการมองเห็นเล่นไฟ กายภาพภายนอก และทางเคมีภายในคล้ายกับเพชรธรรมชาติ ไม่ว่าคุณจะเลือกเพชรธรรมชาติ หรือเพชรแล็บ ล้วนแล้วขึ้นอยู่กับความชอบและงบประมาณส่วนบุคคล จึงไม่มีผิด ไม่มีถูกแต่อย่างใด

ทั้งนี้ หากคุณสนใจสั่งทำเครื่องประดับ เช่น แหวนเพชร Lab-grown ทางเราขอแนะนำให้ติดต่อสอบถามโดยตรงได้ที่ Maye Diamond (Lab-Grown Diamond Specialist) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้นำเข้าเพชรแล็บที่ผ่านการรับรองจาก GIA และ IGI ที่รับประกันว่าเพชรแล็บที่คุณจะได้รับนั้น ถูกต้องตามหลักจริยธรรม ไม่มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายใดๆ เช่นเดียวกันกับเพชรแท้ธรรมชาติจาก Above Diamond

อโบฟยินดีให้บริการคุณเสมอ

พูดคุยกับนักอัญมณีอโบฟไดมอนด์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของท่าน กรุณาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก