อัพเดทล่าสุด 01/10/2022 โดย Wit Sudjaiampun

Clarity Characteristics: เจาะลึกใบเซอร์ จุดที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้

แชร์บทความนี้

หากคุณซื้อเพชรโดยการพิจารณา Clarity (VVS VS SI) จากการดูใบเซอร์เพียงอย่างเดียว คุณอาจกำลังพลาดรายละเอียดเบื้องลึกจุดสำคัญไปได้ นั่นก็คือ Clarity Chracteristics

เมื่อพูดถึง ตำหนิเพชร หรือ ความสะอาดของเพชร (Clarity) คุณคงจะทราบมาในระดับหนึ่งแล้ว ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัย 4C of Diamond ที่ใช้บ่งบอกถึงความงดงาม และมูลค่าของเพชร

ซึ่งถ้าคุณเป็นผู้ที่ชื่นชอบในการสะสมเพชรสวย และมีงบประมาณมากในระดับหนึ่ง คุณก็คงจะพิจารณาซื้อเพชรที่มี Clarity เป็น IF VVS1 VVS2 VS1 หรือ VS2 แต่สำหรับบางท่านที่มีงบประมาณจำกัด และให้ความสำคัญกับความงามของเพชรเป็นรอง ก็อาจกำลังพิจารณาซื้อเพชร Clarity SI1 SI2 หรือต่ำกว่า

หากคุณเป็นมือใหม่ที่กำลังมองหาเพชรแท้ และเพิ่งเริ่มต้นศึกษาเกี่ยวกับ Clarity ผมขอแนะนำให้คุณอ่านบทความ “ความสะอาดของเพชร ตำหนิเพชร IF VVS VS SI เรื่องที่คุณต้องรู้!” เป็นอันดับแรกเพื่อปูพื้นฐานให้เข้าใจ ก่อนที่จะเริ่มอ่านบทความนี้ครับ

แต่นั่นก็ถือเป็นเพียงแค่ความรู้แบบปลายยอดภูเขาน้ำแข็ง (Tip of the Iceberg) ที่หลายท่านคงจะทราบดีอยู่แล้ว เพราะถึงแม้ว่า Clarity ในแต่ละระดับจะส่งผลให้เพชรมีราคาต่างกัน ก็ใช่ว่าเพชรที่มี Clarity เดียวกัน เช่น VVS2 เหมือนกันจะมีราคาเท่ากัน

นั่นเป็นเพราะ รายละเอียดเบื้องลึกภายใต้ Clarity คือ Clarity Characteristics ซึ่งจะบ่งบอกถึงเรื่องราว แหล่งที่มา หรือ Story ของเพชรได้เป็นอย่างดี แต่กลับไม่ค่อยมีใครพูดถึงกัน

ในบทความนี้ ผมจะอธิบายให้คุณทราบถึง Clarity Characteristics (11 แบบ) และ Comments (5 แบบ) ซึ่งเป็นรายละเอียดส่วนสำคัญ ที่จะส่งผลในทั้งด้านความงาม และมูลค่าของเพชรที่คุณสวมใส่ครับ

Clarity: ทบทวนความรู้ทั่วไป

ระดับความใสสะอาดของเพชร

Clarity หมายถึง ตำหนิเพชรที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ โดยมีทั้งภายนอก (Blemishes) และภายใน (Inclusions) ซึ่งตำหนิแต่ละประเภทในที่นี้ทาง GIA จะเรียกว่า Clarity Characteristics ซึ่งถ้าให้ผมแปลเป็นภาษาไทยก็คือ ลักษณะของตำหนิเพชร นั่นเองครับ

เพชรที่ไร้ตำหนิแบบ Internally Flawless (IF) Clarity หมายถึงเพชรที่เราไม่สามารถมองเห็นตำหนิได้ ถึงแม้จะส่องด้วยกล้องกำลังขยาย 10 เท่า ซึ่งเพชรเหล่านี้ทั้งโลกจะมีอยู่เพียง 0.5% จึงเป็นที่นิยมในหมู่ Purist เฉพาะกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์สูง เพราะด้วยความหายากของเพชรเหล่านี้ จึงมีราคาที่โดดสูงจาก VVS1 Clarity ขึ้นมามากพอสมควร

แน่นอนว่า Clarity ที่สูงกว่า หมายถึงเพชรมีตำหนิน้อยกว่า (IF > VVS1 > VVS2 > VS1 > VS2) จึงมีมูลค่าที่สูงกว่า

กระนั้น ไม่ได้แปลว่าเพชรที่มี Clarity สูงกว่าจะเล่นไฟดีกว่า (ยกเว้นกรณีที่ตำหนิส่งผลต่อความงามเพชร) เพราะการเล่นไฟจะขึ้นอยู่กับ Cut Quality (3 Excellent, Proportions Percentage, Hearts and Arrows) เป็นหลัก

Clarity Characteristics: สำคัญไฉน

เลขขอบเพชร ใบเซอร์

Clarity Characteristics หรือ ลักษณะของตำหนิเพชร ถือเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งเป็นเสน่ห์ของเพชรแท้ที่ถือกำเนิดขึ้นโดยธรรมชาติ

ในขณะที่ก้อนเพชรก่อตัวขึ้นภายในพื้นผิวชั้นลึกของโลก เป็นเรื่องธรรมชาติที่ตำหนินั้นจะแทรกซึมอยู่ภายในเนื้อเพชร แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะนอกจากปัจจัยทางธรรมชาติแล้ว มนุษย์ก็มีส่วนสำคัญในกระบวนการขุดและเจียระไนเพชร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่จะมีผลต่อความงามของเพชรแต่ละเม็ด

จากที่เราทราบกันดี ว่าเพชรทุกเม็ดมีเอกลักษณ์และเรื่องราวเฉพาะตัว จึงไม่มีเพชรแท้เม็ดไหนบนโลกที่จะเหมือนกัน 100% โดยเราสามารถพิจารณาจากตำหนิเพชร ที่เปรียบเสมือนเหมือนลายนิ้วมือ ทำให้เราสามารถแยกแยะเพชรแต่ละเม็ดได้อย่างง่ายดายและแม่นยำ

สมมติว่าเรากำลังเลือก ระหว่างเพชรสองเม็ดที่มี Clarity VVS2 เหมือนกัน ก็ไม่ได้แปลว่าเพชรทั้งสองเม็ดจะสวยเหมือนกัน เพราะแต่ละเม็ดย่อมมีรายละเอียดของลักษณะตำหนิที่แตกต่างกันอย่างแน่นอนครับ

ด้วยเหตุที่เพชรทุกเม็ดมีความแตกต่างกันในเรื่อง Clarity ฉะนั้นการเลือกซื้อเพชรโดยพิจารณาจากใบเซอร์เพียงอย่างเดียว แต่ไม่เห็นเพชรเม็ดจริง ก็เปรียบเสมือนการหลับตาเดินข้ามถนน ที่มีความเสี่ยงมากเพราะคุณจะไม่มีทางทราบได้ว่าตำหนิเป็นอย่างไร และส่งผลต่อความงามของเพชรเม็ดจริงมากแค่ไหน

วิธีการอ่าน Reference Diagram (แผนภาพ) จากใบเซอร์ GIA

ใบเซอร์ GIA ฉบับเล็ก

ใบเซอร์ GIA ฉบับใหญ่ ระบุภาพตำแหน่งของตำหนิ

ในกระบวนการประเมินคุณภาพเพชร Clarity Characteristics จะได้รับการวิเคราะห์อย่างละเอียดโดยนักอัญมณีศาสตร์ เพื่อจะได้สามารถ Mark ตำแหน่งและชนิดของตำหนิได้อย่างครบถ้วน

แต่เนื่องจากแต่ละสถาบัน เช่น GIA, HRD และ IGI จะมีวิธีการที่แตกต่างกันพอสมควร ในการ Mark ตำหนิเพชร สำหรับบทความนี้ ผมจึงขออนุญาตอธิบายสัญลักษณ์ที่ใช้โดย GIA เป็นหลัก เพราะเป็นใบเซอร์ที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด อีกทั้งเรายังสามารถพบเห็นได้บ่อยที่สุดด้วยครับ

อ่านเพิ่มเติม: วิธีอ่าน ใบเซอร์เพชร GIA ให้เก่งอย่างมืออาชีพ (ฉบับเจาะลึก)

Reference Diagram ที่ระบุตำแหน่งของตำหนิเพชร จะมีเฉพาะในใบเซอร์ใหญ่ สำหรับเพชรไซส์ 1 กะรัตขึ้นไปเท่านั้น สำหรับใบเซอร์เล็กหรือเพชรไซส์ต่ำกว่า 1 กะรัต เช่น 30-90 ตัง (Dossiers) จะไม่มีการบอกตำแหน่งบนใบเซอร์ จึงต้องอาศัยการดูเพชรเม็ดจริงอย่างเดียวครับ (ยกเว้น Clarity IF ที่ไม่จำเป็นต้องหา เพราะไม่มีตำหนิ)

Blemish (ตำหนิภายนอกเพชร) จะถูกระบุด้วย หมึกสีเขียว ในขณะที่ Inclusion (ตำหนิภายในเพชร) จะถูกระบุด้วย หมึกสีแดง ทั้งจากมุมบนและมุมล่างของเพชร ดังภาพ:

ลักษณะตำหนิชนิดต่างๆ ของเพชรแท้

GIA Inclusion Type

หากคุณเพิ่งได้เห็นแผนภาพด้านบนเป็นครั้งแรก ก็อย่าพึ่งตกใจไปครับ เพราะรายละเอียดอาจดูซับซ้อนและเข้าใจได้ยากสำหรับนักสะสมเพชรมือใหม่ ซึ่งนี่เป็นเหตุผลที่ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมา เพื่ออธิบายสัญลักษณ์แต่ละประเภทอย่างละเอียดให้คุณเข้าใจครับ

11 ลักษณะ Clarity Characteristics ในใบเซอร์ ที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด

ในส่วนนี้ ผมจะพูดถึงประเภทตำหนิทั้ง 11 แบบที่พบได้บ่อย (เครดิตภาพจาก GIA) โดยอาจส่งผลหรือไม่ส่งผลต่อความงามของเพชร ผมจึงมักอาศัยการพิจารณาใบเซอร์ควบคู่กันไปกับการดูเพชรเม็ดจริงทุกครั้งก่อนซื้อ

1. Bearding

Bearding เพชร

มีรูปร่างเหมือนเส้นผม ที่ก่อตัวขึ้นในส่วน Girdle (ขอบเพชร) ในระหว่างการ Bruting หรือ การเจียระไนขอบเพชรโดยการนำเพชร 2 เม็ดมาวางบนแท่นที่หมุนคนละทิศ เพื่อขัดขอบเพชรให้เป็นรูปทรงกลม

Bearding ถือเป็นตำหนิชนิดที่ปกติผมจะรับได้ (หากไม่มากเกินไป) เพราะไม่ได้ส่งผลต่อหน้าเพชรโดยตรงครับ

2. Cavity

Cavity เพชร

เป็นรูโหว่ ที่มักจะเกิดขึ้นในระหว่างการเจียระไนเพชร โดยสาเหตุเกิดจากการที่ช่างเจียระไนพยายามจะกำจัดตำหนิอย่าง Feather หรือ Crystal ออกจากเพชร จึงทำให้เกิดเป็นโพรง

ถ้าให้เปรียบ ก็เหมือนกับการที่คุณพยายามบีบสิวออกจากผิวหน้า ส่งผลให้ใบหน้าของคุณเป็นรูอย่างถาวร

หากเพชรมี Cavity ในระดับสูง เมื่อเราสวมใส่เพชรไปเรื่อยๆ อาจมีคราบมันเข้าไปเกาะสะสมในส่วนลึกเหมือนหลุมสิว ส่งผลให้เพชรในส่วนนั้นกลายเป็นสีดำอย่างถาวรได้ครับ

แต่หากเพชรมีระดับ Clarity สูงๆ เช่น VVS1-VVS2 อาจจะพิจารณาตำหนิประเภทนี้ได้เป็นกรณีๆไปครับ

3. Chip

Chip เพชร

Chip คือ ส่วนของเพชรที่หลุดออกไป ซึ่งมักจะพบได้บ่อยในส่วนริมหรือก้นของเพชร

โดยสาเหตุหลักๆ จะมาจากการสวมใส่เพชรอย่างไม่ระมัดระวัง (กระแทกของแข็งอย่างรุนแรงมากๆ) หรือ เกิดจากความผิดพลาดของช่างฝังเพชรที่มีประสบการณ์ไม่มากพอ ซึ่งจะส่งผลต่อน้ำหนักกะรัตของเพชร

ตำหนิประเภทนี้จะพบได้บ่อยในเพชรมือสอง หรือเพชรที่นำไปออกใบเซอร์หลังจากสวมใส่มานานแล้วครับ

4. Cloud

Cloud เพชร

เป็นตำหนิที่พบได้บ่อย และเป็นศัพท์ที่ถูกใช้อย่างครอบคลุม โดยจะหมายถึงการกระจุกตัวเป็นก้อนของ Pinpoint หรือ Crystal

ปกติแล้วหากมี Cloud กระจายตัวเป็นกลุ่มเล็กๆอยู่ตามจุดต่างๆ ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ไม่น่ากังวล

ในบางกรณี พบว่าหากมี Cloud มากเกินไป จะส่งผลต่อประกายไฟของเพชรอย่างสาหัส ทำให้เพชรดูขุ่นหมอง ไม่เล่นไฟ โดยคนในวงการจะเรียกเพชรประเภทนี้ว่า Milky ซึ่งเป็นสิ่งที่เหล่านักสะสมจะหลีกเลี่ยง เพราะเพชรเหล่านี้จะสูญเสียมูลค่าเยอะ และสภาพคล่องไม่ค่อยดีครับ

5. Crystal

Crystal เพชร

Crystal เป็นแร่ธาตุทางธรรมชาติ ที่พบได้บ่อยภายในเพชร ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องระวังเป็นอย่างมาก

เพราะ Crystal มีหลากหลายรูปแบบ เช่น Colorless (เศษเพชรภายในเพชร), Black (เศษคาร์บอน), Reddish (เศษโกเมน), Greenish (เศษเพอริดอท), ฯลฯ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้จะไม่มีระบุอยู่ในใบเซอร์ จึงจำเป็นต้องดูจากเพชรเม็ดจริงเท่านั้น

โดยชนิดของ Crystal ที่จะส่งผลต่อความงาม และมูลค่าของเพชรโดยตรง คือ Black และ Green

จึงไม่น่าแปลก หากเราได้มีโอกาสพบเห็นใบเซอร์เพชร(ที่เหมือนจะ)สวย ในราคาที่ล่อตาล่อใจ เช่น D-Color (น้ำ 100) VS1-VS2 แต่กลับกลายเป็นว่าได้แถม Black Cyrstal มาให้เราดูต่างหน้าฟรีอีกด้วย

เพราะฉะนั้น หากเพชรของคุณมี Crystal ก็ควรตรวจสอบให้ถี่ถ้วนว่าเป็นสีไหน และอยู่ตำแหน่งไหนของเพชรครับ

6. Feather

Feather เพชร

เป็นรอยแตก หรือรอยร้าวขนาดเล็กภายในเนื้อเพชร ซึ่งถ้าถามผมว่าจะมองเห็นชัดแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับองศาที่เรามองเพชร เพราะในบางมุม Feather อาจดูโปร่งแสงจนมองไม่เห็น แต่เมื่อมองจากอีกมุมอาจมองเห็นเป็นสีขาวๆเมื่อมีแสงไฟตกกระทบ

หากในเพชรของคุณมีตำหนิ Feather มากเกินไป ก็จะส่งผลต่อความทนทานของเพชรโดยตรง (ยิ่งถ้าอยู่ใกล้ขอบเพชรแล้วยิ่งเสี่ยง) หรืออาจทำให้เพชรเม็ดนั้นมีสีที่ไม่พึงประสงค์เจือปนอยู่ก็เป็นได้

ในเพชรใบเซอร์หลายเม็ด เราจะพบเห็น Feather ได้บ่อยพอสมควร โดยส่วนตัวผมจะดูเป็นกรณีไป แต่จะพยายามหลีกเลี่ยงเพชรที่มี Feather ใกล้ๆขอบเพชร เพราะเมื่อใช้ไปนานวันเข้า เพชรก็มีโอกาสแตกเพิ่มได้ครับ

7. Graining

Internal Graining เพชร

เกิดจากลักษณะการเติบโตอย่างผิดรูปแบบของ Crystal ภายในเพชร ซึ่งตำหนิชนิดนี้จะมีทั้งไร้สี มีสี หรือเส้นขีดๆ แต่หากมีมากเกินไป อาจทำให้เพชรของคุณดูแล้วมีรอยย่น คล้ายๆกับเสื้อผ้าที่ไม่ได้รีด และมีโอกาสทำให้เพชรดูหมองไปเลยก็ได้ครับ

โดยทั่วไป หากมี Graining อยู่ด้านล่างเพชร ก็ถือว่าโชคดี แต่หากเป็นตำหนิขึ้นหน้า เราก็คงต้องมาดูกันอีกทีว่าเป็น Graining ชนิดไหน และส่งผลมากเพียงใดครับ

8. Indented Natural

Indented Natural เพชร

เป็นรอยบุ๋มที่เกิดขึ้นภายใต้ผิวเพชร ซึ่งเป็นผลจากการที่ช่างเจียระไนตัดสินใจไม่ขัดเพชรส่วนนั้นออก จึงมักพบได้บ่อยในส่วนขอบของเพชร

บางท่านเข้าใจผิด คิดว่า Indented Natural เหมือนกับ Chip แต่หากเราดูจริงๆจะมองเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนครับ

หากเพขรของคุณมี Indented Natural เล็กๆในส่วนขอบ ก็ไม่ต้องเป็นกังวลไปครับ เพราะถ้าเรานำไปให้ช่างฝังเพชรเก่งๆ เขาจะทราบทันทีว่าควรจะใช้หนามเตยซ่อนในส่วนนั้น เพื่อปกป้องเพชรและซ่อนตำหนิครับ

9. Needle

Needle เพชร

มีลักษณะเหมือนเข็มเย็บผ้าทรงผอมยาว โดยมักจะมองเห็นเป็นสีขาวหรือไร้สี แต่หากเป็น Needle ที่กระจุกตัวเป็นกลุ่ม Cluster ก็มีสิทธิ์ส่งผลต่อความสวยงามของเพชรได้โดยตรงครับ

หากเพชรของคุณมี Needle เล็กๆแบบไม่ขึ้นหน้า ก็ถือว่ายังพอรับได้อยู่ครับ

10. Pinpoint

Pinpoint เพชร

เป็นจุดเล็กๆสีขาวหรือสีดำที่อยู่ภายในเพชร ซึ่งมีไม่เกิน 3 จุดในตำแหน่งเดียวกัน เพราะหากมีมากกว่านั้นทาง GIA มักจะระบุให้เป็น Cloud แทนครับ

Pinpoint ถือเป็นตำหนิที่เล็กน้อย และไม่ได้ส่งผลต่อความงามของเพชรโดยตรงครับ (ยกเว้นเป็น Black Pinpoint แบบขึ้นหน้าเพชร)

11. Twinning Wisp

Twinning Wisp เพชร

เป็นผลจากการเติบโตอย่างผิดรูปของ Crystal ในขณะที่ก้อนเพชรก่อตัวขึ้น มีลักษณะเหมือนกับรากต้นไม้ที่ฝังลงดิน

โดยทั่วไปเราจะสามารถพบ Twinning Wisps ได้บ่อยในเพชรทรงแฟนซี เช่น Pear Shape, Heart Shape และ Triangle Shape เพราะเป็นรูปทรงที่กำเนิดจากการบิดตัวของเพชร แต่ก็ยังสามารถพบได้ในเพชรทรงอื่นๆเช่นกันครับ

ถ้าให้พูดง่ายๆ Twinning Wisps ก็คือการผสมรวมตัวกันระหว่าง Inclusion ชนิดต่างๆไม่ว่าจะเป็น Pinpoint, Crystal, Feather และ Cloud จึงมักพบได้ทั่วไปในเพชรที่มี Clarity ต่ำกว่า SI ครับ

เพิ่มเติม: 5 ลักษณะ Comments แบบ Not Shown

not shown บนใบเซอร์เพชร

ในบางกรณี เราอาจพบ Comments ในส่วนใบเซอร์ ที่เขียนว่า Not Shown ซึ่งส่วนใหญ่จะหมายถึงตำหนิมีน้อยมาก หรือไม่ Significant เพียงพอที่ทาง GIA จะต้องวาดลงใน Diagram แต่จะถูกรวมคะแนนไปในการ Assign Clarity เรียบร้อยแล้ว

Clarity Characteristics แบบ Not Shown ทั้ง 5 แบบที่ผมจะกล่าวถึงนี้ ส่วนใหญ่แทบจะไม่ส่งผลต่อเพชรเม็ดจริง คุณจึงไม่จำเป็นต้องกังวล หากพบว่ามี Comment เหล่านี้อยู่ในใบเซอร์

1. Additional Clouds/Pinpoints are not shown

เป็นเพชรที่มี Clouds หรือ Pinpoints น้อยมากจนไม่ส่งผลกระทบใดๆต่อเพชร

2. Surface Graining is not shown

หมายถึงความขรุขระทางธรรมชาติเล็กน้อยภายนอกเพชรขณะก่อตัว โดยมักจะมีความโปรงใส่ และมองเห็นได้ยากมาก แม้ว่าจะใช้กล้องขยายถึง 20-30 เท่า (ปกติจะใช้กล้องขยาย 10 เท่าในการวิเคราะห์เพชร)

3. Internal Graining is not shown

มีความคล้ายคลึงกันกับ Surface Graining แต่จะอยู่ภายในเพชร ส่วนการมองเห็นตำหนิจะขึ้นอยู่กับองศาการดูเพชร และคุณภาพของโคมไฟเป็นหลัก (ส่วนใหญ่มองไม่เห็นอยู่ดี)

4. Minor details of Polish are not shown

เป็น Comment ที่พบได้บ่อยจนเป็นเรื่องปกติในเพชร IF Clarity ซึ่งไม่ส่งผลใดๆต่อความงามของเพชร และเป็นเพียงจุดเดียวที่ใช้แยกแยะระหว่างเพชร IF กับ FL (Flawless)

5. Additional Twinning Wisps are not show

พบได้บ่อยในเพชร Clarity SI โดยมีสาเหตุจากการที่ Crystal ภายในเพชรมีการเปลี่ยนทิศทางในขณะก่อตัวขึ้น

สรุป: ใบเซอร์มีไว้สบายใจกว่า…แม้จะไม่ใช่ทุกสิ่ง

หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่พิจารณาเลือกเพชรจาก Clarity: IF VVS VS SI บนใบเซอร์เพียงอย่างเดียว เมื่อได้อ่านบทความถึงจุดนี้ คุณคงจะพอเห็นภาพ ว่าอาจไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจ

เพราะคุณควรจะสังเกตให้ลึกไปถึง Clarity Characteristics หรือประเภทของตำหนิ เพื่อดูความซีเรียสของตำหนิแล้ว รวมไปถึงส่วน Comment ไว้เป็นด่านที่สอง เพื่อจะได้เข้าใจถึง Story ของเพชรเม็ดนั้นมากยิ่งขึ้น

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะดูเพชรเม็ดจริงแล้ว ถามว่าตำหนิเพชรจะส่งผลต่อความงามของเพชรหรือไม่ ก็ยังนับว่าเป็นเรื่องที่ Subjective อยู่พอสมควร เช่นเดียวกัน บางคนมีไฝที่ปาก อีกคนมีไฝที่จมูก บางท่านอาจมองว่าคนแรกสวยกว่า ส่วนบางท่านอาจชอบคนที่สองมากกว่า จึงแล้วแต่ความพึงพอใจของแต่ละท่าน

และนี่คือเหตุผล ที่เราจำเป็นต้องคัดเลือกเพชรทุกเม็ดอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้คุณมั่นใจว่าจะได้สวมใส่เพชรเม็ดงาม ให้สมกับความไว้วางใจที่ลูกค้าทุกท่านมอบให้เรามาตลอด 50 กว่าปีครับ

หากคุณมีคำถาม หรือข้อสงสัยในด้านใดเกี่ยวกับ Clarity Characteristics สามารถติดต่อเราตอนนี้ เพื่อรับคำปรึกษาได้เลยครับ

อโบฟยินดีให้บริการคุณเสมอ

พูดคุยกับนักอัญมณีอโบฟไดมอนด์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของท่าน กรุณาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก