อัพเดทล่าสุด 10/07/2022 โดย Above Diamond

วิธีจัดงานแต่งอิสลาม แบบละเอียด ถูกต้องตามหลักศาสนา

แชร์บทความนี้

หากคุณกำลังจะเป็นว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวใน “งานแต่งอิสลาม” หรือที่เรียกว่า การ “นิกะห์” การจัดงานให้ถูกต้องตามหลักศาสนาที่มีลำดับพิธีรวมไปถึงกฎต่างๆที่เคร่งครัดเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ในปัจจุบัน งานแต่งอิสลามได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบที่รวมเอาประเพณีของพื้นถิ่นเข้ามาใส่ ก่อเกิดเป็น “งานแต่งมุสลิมที่ไม่ใช่อิสลาม” แบบนี้ คุณควรต้องจัดงานแต่งอิสลามแบบไหน ถึงจะถูกต้องตามหลักศาสนามากที่สุด?

งานแต่งอิสลาม หรือที่เรียกว่าการ “นิกะห์” (نِكَاح‎) ตามรากศัพท์ภาษาอาหรับเดิมมีความหมายว่า “การรวมกัน” หรือการให้คู่สามีภรรยาหาความสุขต่อกันได้ แต่ถ้าหากอิงตามหลักศาสนา การนิกะห์ จะหมายถึง “การตกลงกัน เป็นที่รู้จักกัน ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบและเงื่อนไขต่างๆที่กำหนดไว้”

ดังนั้น ถ้าคุณและคู่ต้องการจัดงานแต่งอิสลามแบบตรงตามหลักศาสนา ก็จะต้องทำตามกฎระเบียบแบบแผนอย่างมั่นคง ซึ่งศาสนาอิสลามได้บัญญัติว่าการกระทำเช่นนี้ก็เป็นไปเพื่อปกป้องสังคมและความสุขของสถาบันครอบครัว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีนะคะที่ศาสนาอิสลามส่งเสริมการแต่งงานเพื่อที่ให้คุณและคู่มองเห็นถึงประโยชน์ที่จะสะท้อนกลับมาสู่ตัวคุณเองรวมถึงสังคมโดยรวม

แต่ในปัจจุบัน การจัดงานแต่งอิสลามในประเทศไทยก็ได้มีการรวมเอาประเพณีท้องถิ่นที่ไม่ได้มีการบัญญัติไว้ในข้อกำหนดของศาสนาอิสลามเข้าร่วมด้วย ทำให้หลายๆคู่ไม่แน่ใจว่า การเตรียมงานแต่งอิสลามแบบไหนถึงจะเรียกว่าเป็นการจัดงานแต่งอิสลามที่ถูกต้องตามหลักศาสนามากที่สุด ในวันนี้ บรู๊ค จึงอยากจะนำเอาวิธีจัดงานแต่งอิสลามแบบถูกต้องตามหลักศาสนาที่ละเอียดทุกขั้นตอน มาให้คุณได้ลองศึกษากันด้วยคำอธิบายแบบง่าย จะมีสิ่งใดที่คุณควรรู้บ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

เงื่อนไขหลักปฏิบัติ 5 ข้อ

เงื่อนไขปฏิบัติ ในงานแต่งอิสลาม 5 ข้อพิธีนิกะห์

ในศาสนาอิสลาม การแต่งงานในพิธีนิกะห์อันเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดจะสมบูรณ์ได้ ก็เมื่อประกอบด้วยเงื่อนไข 5 ประการเข้าด้วยกัน นั่นคือ:

  1. ผู้ปกครองของฝ่ายหญิง (วาลี): โดยจะต้องเป็นผู้ชายมุสลิมที่เป็นผู้ปกครองตามเชื้อสาย และเป็นผู้ที่ไม่สามารถแต่งงานกับเจ้าสาวได้ เช่น พ่อ ปู่ พี่น้องชาย หรือญาติสนิท
  2. พยาน 2 คน (ซะซีย์): เป็นผู้ชายมุสลิม หูได้ยินและตาสามารถมองเห็นเพื่อเป็นพยานได้
  3. เจ้าบ่าว: เป็นผู้ชายมุสลิม ไม่อยู่ในระหว่างประกอบพิธีฮัจญ์
  4. เจ้าสาว: เป็นผู้หญิงมุสลิม ไม่อยู่ในระหว่างประกอบพิธีฮัจญ์
  5. คำเสนอของผู้ปกครองของฝ่ายหญิง (วาลี) และคำรับของเจ้าบ่าว ที่เรียกว่าอีญาบและกอบูล

จะเห็นได้ว่า ถ้าหากคุณและคู่สามารถหาเงื่อนไข 5 ประการนี้เข้ามาประกอบกันได้ในการนิกะห์ ก็จะถือว่า เป็นพิธีแต่งงานอิสลามที่ถูกต้องตามหลักศาสนาแล้ว เรียกได้ว่าดูเรียบง่ายกว่าที่คิดมากๆเลยล่ะค่ะ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้ส่วนหลักสำคัญที่ทำให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวรวมกันเป็นหนึ่งได้ในงานแต่งอิสลามก็คือพิธีนิกะห์ แต่ก็ยังมีองค์ประกอบลำดับพิธีอีกหลายส่วนทั้งก่อนและหลังพิธีนิกะห์ ที่ก็มีข้อกำหนดและหลักปฏิบัติเช่นกัน โดยในงานแต่งมุสลิมจะมีลำดับพิธี ดังนี้ค่ะ

ลำดับพิธีงานแต่งอิสลาม

1. การสู่ขอ

การสู่ขอถือเป็นจุดเริ่มต้นของการนิกะห์ เมื่อฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงใจกันว่าจะแต่งงาน ฝ่ายชายก็จะส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอ เพื่อให้ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายตกลงว่าจะจัดงานแต่งอิสลามรูปแบบใด จะมี “มะฮัร” หรือสินสอดเป็นจำนวนเท่าใด พร้อมกำหนดวันและสถานที่ในการจัดงานค่ะ

2. การหมั้น

การหมั้นตามหลักศาสนาอิสลาม จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้หญิงที่ถูกสู่ขอตกลงหรืออนุญาตเพื่อทำการแต่งงานกับฝ่ายชายนั่นเองค่ะ

โดยในส่วนนี้ทางการสู่ขอและการหมั้น จะไม่มีพิธีกรรมใดๆมารองรับ อย่างเช่นที่มักเห็นในประเพณีไทย ทั้งการแห่ขันหมากในวันสู่ขอ หรือแม้แต่การสวมแหวนแต่งงานให้อีกฝ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาต เพราะยังไม่ได้ทำการนิกะห์และมอบสินสอดนั่นเองค่ะ

การแห่ขันหมากในงานแต่งอิสลามตามแบบไทยการแห่ขันหมากงานแต่งมุสลิมในประเทศไทย ที่ไม่มีกำหนดไว้ตามหลักศาสนา

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากผู้ใหญ่ฝ่ายชายต้องการจะมอบของขวัญให้แก่ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงในการสู่ขอ ก็สามารถให้ได้ แต่จะต้องเน้นย้ำว่าของขวัญที่ให้ไปนั้นจะต้องไม่ใช่สินสอดหรือมะฮัร ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการกล่าวคำอีญาบและกอบูลในพิธีนิกะห์ค่ะ

และเมื่อได้มีการหมั้นอย่างเป็นทางการแล้ว ก่อนที่จะเกิดการนิกะห์ก็จะมีข้อกำหนดที่ฝ่ายหญิงและฝ่ายชายต้องปฏิบัติ ดังนี้ค่ะ

  1. ห้ามอยู่กันสองต่อสองกับคู่หมั้น
  2. ห้ามจับต้องสัมผัสคู่หมั้นก่อนการนิกะห์
  3. ห้ามขอคืนสิ่งของที่ให้ผู้หญิงในการหมั้น
  4. ห้ามมองดูผู้หญิงที่เราหมั้นแล้ว เว้นแต่จะมองดูหน้าและฝ่ามือ

ด้วยข้อกำหนดเช่นนี้ ทำให้ภายหลังการหมั้น ว่าที่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวก็จะต้องไม่เจอหน้ากันหรืออาศัยอยู่บ้านห่างกันไปเลยจนกว่าจะถึงวันที่มีพิธีนิกะห์ และทำให้ในช่วงวันงานนิกะห์ เจ้าสาวจึงต้องใส่ชุดแต่งงานที่มิดชิด เผยให้เห็นเพียงแค่ใบหน้าและฝ่ามือเท่านั้นนั่นเองค่ะ

3. การนิกะห์ (พิธีแต่งงาน)

พิธีนิกะห์ในงานแต่งอิสลาม

เมื่อถึงกำหนดวันนิกะห์ ให้จัดองค์ประกอบต่างๆของงานพิธีมารวมกันตามวันและสถานที่ที่ได้นัดหมายไว้ ทั้งผู้ปกครองของฝ่ายหญิง พยาน 2 คน เจ้าบ่าวและเจ้าสาว เมื่อมีองค์ประกอบครบแล้ว ก็ให้ผู้ปกครองเจ้าสาวกล่าวคำเสนอ หรืออิญาบ โดยก่อนที่จะกล่าวคำเสนอนี้ จะต้องมีการขออนุญาตจากเจ้าสาวก่อน หรือที่เรียกว่าการขออิซิน โดยในการคำกล่าวอิญาบ หากผู้ปกครองของฝ่ายหญิงเป็นบิดาเจ้าสาวโดยตรง จะกล่าวดังนี้ค่ะ

ข้าพเจ้านิกะห์ท่านกับ (กล่าวชื่อเจ้าสาว) บุตรีข้าพเจ้า ด้วยกับมะฮัร 125 บาท

ซึ่งถ้าหากสินสอด หรือ มะฮัร ที่ตกลงกันไว้ มีการตกลงมากหรือน้อยกว่านี้ ก็ให้กล่าวสรุปเปลี่ยนคำพูดเป็นว่า “ด้วยมะฮัรที่พวกท่านได้ตกลงไว้” แทนที่ ซึ่งที่ในศาสนาอิสลามมักตั้งสินสอดไว้ที่ 125 บาท จะเป็นเพราะเหตุผลใด เดี๋ยวบรู๊คจะมาอธิบายให้ฟังต่อไปนะคะ

และเมื่อมีการกล่าวคำอิญาบจากผู้ปกครองฝ่ายหญิงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางเจ้าบ่าวก็จะเอ่ยคำกล่าวรับ หรือที่เรียกว่า กอบูล ดังนี้

ข้าพเจ้ารับนิกะห์ นางสาว(กล่าวชื่อเจ้าสาว) นี้ด้วยมะฮัรดังที่กล่าว

เท่านี้เองค่ะ เป็นอันเสร็จพิธีงานแต่งอิสลามเรียบร้อย เรียบง่าย ไม่ต้องมีขบวนแห่ขันหมากหรือพิธีการใหญ่โตให้ยุ่งยากเลย โดยมีคำกล่าวว่า “การนิกะห์ที่มีความสุขมากที่สุด คือการนิกะห์ที่มีค่าใช้จ่ายน้อย” นั่นเอง

ส่วนในลำดับถัดไปก็จะเป็นวิธีทำบุญแต่งงานหรือที่เรียกว่าการทำบุญวาลีมะห์ ซึ่งในมุมมองของคนที่อยู่นอกศาสนาอิสลามก็คงคล้ายๆกับงานเฉลิมฉลองหรืองานเลี้ยงหลังพิธีงานแต่งนั่นเองค่ะ

4. การทำบุญวาลีมะห์

งานวาลีมะห์ ในงานแต่งอิสลามงานวาลีมะห์ จัดขึ้นเพื่อเลี้ยงอาหารหลังงานแต่งอิสลาม

การทำบุญวาลีมะห์ หมายถึง การจัดอาหารขึ้นในพิธีการสมรสสำหรับผู้ที่มีความสามารถจะทำได้ ถือเป็นการเชื้อเชิญให้ผู้มาร่วมงานรับประทานอาหารร่วมกัน โดยหลักการของการทำบุญวาลีมะห์จะเน้นไปที่ความเรียบง่ายไม่หวือหวา โดยมีคำกล่าวว่า “จงทำวาลีมะห์แม้ด้วยกับแพะตัวเดียว” หรือแม้แต่การเปรียบเปรยทำวาลีมะห์ด้วยเพียงขนมหวานและอินทผาลัม ก็ถือว่าใช้ได้แล้วค่ะ

ทำให้อันที่จริงแล้ว การทำบุญวาลีมะห์จะไม่มีก็ย่อมได้เช่นกัน เพราะไม่ได้เป็นข้อบังคับในศาสนาอิสลาม โดยศาสนาอนุญาตให้ทำได้สำหรับผู้ที่มีกำลังทรัพย์ถึง

โดยการจัดงานทำบุญวาลีมะห์ จะมีเงื่อนไขก็คือเป็นการเชิญวงญาติทั้งหมด เชิญผู้ที่อยู่ใกล้บ้านหรือเพื่อนบ้านทั้งหมด เชิญผู้ที่มีอาชีพเดียวกันทั้งหมด โดยไม่แบ่งชั้นว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวยหรือเจาะจงเฉพาะเพียงบางคนบางกลุ่ม

และในการเชิญแขก ผู้จัดงานต้องไปเชิญด้วยตนเอง และในงานต้องไม่มีสิ่งที่ผิดหลักศีลธรรม เช่น การดื่มเหล้า การละเล่น การเต้นหรือร้องรำทำเพลง อันจะต่างจากงานแต่งมุสลิมที่ไม่ใช่อิสลามที่รวมเอาประเพณีไทยเข้าไปด้วยแบบที่มีการนำเสนอดนตรีพื้นบ้านอยู่ในงานวาลีมะห์

และถ้าหากแขกที่เป็นมุสลิมได้รับเชิญให้ไปงานแล้ว ก็จะต้องตอบรับและไปร่วมงานให้ได้ เว้นแต่ว่าในงานนั้นๆ จะมีการเชิญบุคคลนอกศาสนาอิสลามเข้าร่วมงานด้วย แขกที่ได้รับเชิญก็อาจจะตอบรับว่าไปหรือไม่ไปงานก็ได้ค่ะ

หลักการและข้อกำหนดในงานแต่งอิสลาม

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ว่าที่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวงานแต่งอิสลามก็น่าจะพอเห็นภาพแล้วว่า ในงานแต่งอิสลามจะมีลำดับพิธีการและข้อกำหนดต่างๆเป็นอย่างไรบ้างถึงจะถูกต้องตามหลักศาสนา บรู๊คอยากจะขยายความเพิ่มเติมไปอีกถึงหลักการและข้อกำหนดในงานแต่งอิสลาม ที่ทำให้คุณเข้าใจที่มาที่ไปของพิธีการเหล่านี้ได้มากขึ้น ดังนี้ค่ะ

1. สินสอด หรือ มะฮัร

การมอบมะฮัร สินสอดงานแต่งอิสลาม

สินสอด (มะฮัร) คือทรัพย์สินเพื่อการสมรส โดยในศาสนาอิสลามแบ่งออกเป็น 2 ประเภท นั่นคือ

  1. มะฮัรที่กล่าวถึงในพิธีนิกะห์ มีจำนวนกำหนดไว้แน่นอน และเป็นที่ตกลงของทั้งสองฝ่าย
  2. มะฮัรที่ไม่ได้กำหนดจำนวนไว้แน่นอน แต่เกิดจากการที่ฝ่ายชายได้ประเมินราคา และมอบให้ ตามสภาพของบุคคล ครอบครัวและตำแหน่งหน้าที่การงานรวมถึงฐานะสังคมของฝ่ายหญิง

โดยมะฮัรที่ใช้ในพิธีนิกะห์มักนิยมให้เป็นเงินจำนวน 125 บาท เพราะเป็นจำนวนเดียวกันกับจำนวนมะฮัร ที่ท่านศาสดานบีฯ มอบให้แก่บรรดาภรรยาของท่านเป็นจำนวน 500 ดิรฮัม ซึ่ง 1 ดิรฮัม มีค่าเท่ากับ 1 สลึงไทย เมื่อคำนวณแล้วจึงมีมูลค่าเท่ากับ 125 บาทนั่นเองค่ะ

และมะฮัรที่ถูกต้อง จะต้องเป็นทรัพย์สินทุกชนิดที่มีค่าหรือมีประโยชน์ โดยไม่ได้กำหนดจำนวนไว้แน่นอนขึ้นอยู่กับการตกลงของทั้งสองฝ่าย แต่ไม่ควรมีค่าสูงเกินจนเกิดความยุ่งยากแก่ฝ่ายชายในการหาคู่ครอง

2. การสวมแหวนในงานแต่งอิสลาม

การสวมแหวนแต่งงาน ในงานแต่งอิสลาม

หากคุณต้องการจะสวมแหวนในงานแต่งอิสลาม ก็สามารถทำได้นะคะ ทางศาสนาไม่ได้ห้าม เพียงแต่เป็นสิ่งที่ “ไม่ใช่เรื่องจำเป็นต้องทำ” เพราะถ้าหากคิดว่าต้องทำ ก็จะเป็นการรับเอาข้อกำหนดนอกศาสนามาใช้ซึ่งผิดหลักศาสนา

ถ้าหากจะมีการสวมแหวน ทางศาสนาอิสลามได้กำหนดไว้ว่าห้ามสวมแหวนที่นิ้วชี้กับนิ้วกลาง ดังนั้น การสวมแหวนแต่งงานที่นิ้วนางสามารถทำได้ นอกจากนี้ ยังสามารถสวมแหวนแต่งงานเป็นเครื่องประดับได้แต่ให้หลีกเลี่ยงการโอ้อวดแก่ผู้อื่นค่ะ

และถ้าหากทางฝ่ายเจ้าบ่าวต้องการจะซื้อแหวนเพื่อมอบให้เป็นมะฮัรแก่ฝ่ายเจ้าสาว ก็สามารถทำได้ โดยมีคำกล่าวไว้ว่า “จงให้เป็นค่าสมรสเถิด แม้จะเป็นแหวนที่ทำมาจากเหล็กก็ตาม” จึงทำให้เห็นได้ว่า ในงานแต่งอิสลาม การมอบมะฮัรเป็นแหวนแต่งงานสามารถทำได้ และสนับสนุนให้มอบทรัพย์สินแต่พอตัว เรียบง่าย และไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางการเงินในภายหลัง

อ่านต่อ: 3 เคล็ดลับเลือก แหวนเกลี้ยง กว้าง-หนา แค่ไหนตรงใจคุณ

3. การแต่งงานข้ามศาสนา

ในงานแต่งมุสลิม หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นมุสลิมแต่อีกฝ่ายเป็นคนศาสนาอื่น จะไม่สามารถแต่งงานข้ามศาสนาได้ ทำให้จะต้องเข้ามานับถือศาสนาอิสลามด้วยกันทั้งคู่ก่อนโดยการเรียนรู้ศาสนาให้เข้าใจถึงหลักของอิสลามอย่างถ่องแท้ นอกจากนี้ ถ้าหากเจ้าสาวนับถือศาสนาอื่นก่อนมานับถือศาสนาอิสลาม ทำให้ผู้ปกครองทางสายเลือดของฝ่ายหญิงไม่สามารถเป็นวาลีให้ในพิธีนิกะห์ได้ ก็จะต้องแต่งตั้งให้ผู้อื่นทำหน้าที่ผู้ปกครองแทน โดยอาจจะเป็นครูสอนศาสนาหรือผู้รู้ที่น่าเคารพนับถือก็ได้ค่ะ

4. การนำประเพณี ความเชื่อโชคลางอื่นๆเข้ามารวมในงานแต่งมุสลิม

ในการจัดงานแต่งมุสลิมที่ถูกต้องตามหลักศาสนา จะต้องจัดตามหลักพิธีที่ได้กล่าวไปข้างต้นเท่านั้นนะคะ หากมีการนำเอาความเชื่อเรื่องโชคลางหรือประเพณีอื่นๆใส่เข้ามาแล้วมองว่าเป็นสิ่งจำเป็น อย่างเช่น การถือฤกษ์ยาม การแห่ขบวนต่างๆหรืองานรื่นเริง ก็จะเป็นข้อห้ามที่ไม่ควรทำ จะถือว่าเป็นงานแต่งมุสลิมที่ไม่ใช่อิสลามนั่นเองค่ะ

5. ชุดเจ้าบ่าว เจ้าสาว

ชุดเจ้าบ่าว เจ้าสาว สำหรับงานแต่งอิสลาม

สำหรับชุดเจ้าบ่าวเจ้าสาว อันที่จริงแล้วไม่จำเป็นต้องดูหรูหราฟุ่มเฟือย เพียงแต่ขอให้ถูกต้องตามหลักศาสนาก็ถือว่าใช้ได้แล้ว นั่นก็คือ ถ้าหากเป็นชุดเจ้าบ่าวอิสลาม จะต้องแต่งกายรัดกุม เป็นเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว ห้ามใส่สีแดง รวมถึงใส่หมวกเป็นสัญลักษณ์ที่สวยงาม เพื่อให้อยู่ในความเคารพเรียบร้อยตามหลักของศาสนาอิสลาม

ส่วนชุดเจ้าสาวอิสลาม มีข้อกำหนดเพียงแค่จะต้องปกปิดทุกส่วนของร่างกายให้มิดชิด ยกเว้นไว้เพียงใบหน้าและฝ่ามือเท่านั้นค่ะ

อ่านต่อ: ชุดแต่งงาน: 6 ขั้นตอนเลือกอย่างไรให้คุณสวยที่สุดในวันสำคัญ

6. ข้อกำหนดสำหรับแขกที่มาร่วมงานอิสลาม

ข้อกำหนดสำหรับแขกที่มาร่วมงานแต่งอิสลาม

สำหรับในข้อนี้ บรู๊คใส่รายละเอียดไว้เพิ่มเติมเนื่องจากในปัจจุบันมักมีแขกต่างศาสนาเข้าร่วมงานแต่งอิสลามเป็นจำนวนมาก และมักไม่แน่ใจว่าควรต้องทำตัวอย่างไร หรือควรต้องแต่งตัวอย่างไร บรู๊คมีคำตอบให้ ดังนี้ค่ะ:

เพื่อนเจ้าสาว งานแต่งอิสลาม

  1. การใส่ซองช่วยงานแต่งอิสลาม: ในงานแต่งอิสลาม แขกสามารถใส่ซองช่วยงานแต่งได้ตามต้องการ โดยเป็นจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ตามความสมัครใจ ทั้งนี้ทั้งนั้น ทางเจ้าบ่าวเจ้าสาวผู้จัดงาน จะต้องไม่วางเงื่อนไขว่าจำเป็นจะต้องใส่ซอง หรือมีจุดประสงค์เพื่อหาเงินคืนทุนการจัดงานแต่ง เพราะไม่ได้มีกำหนดไว้ในหลักศาสนาอิสลาม ถ้าหากวางเงื่อนไขไว้ก็จะถือเป็นการผิดกฏและเป็นประเพณีนอกศาสนาค่ะ
  2. การแต่งตัวไปงานแต่งอิสลาม ห้ามใส่สีอะไร: คำถามนี้มีผู้ถามค่อนข้างเยอะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ศาสนาอิสลามไม่ได้มีข้อห้ามการใส่เสื้อสีใดเป็นพิเศษในการไปงานแต่งอิสลาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ให้แขกที่จะไปร่วมงานลองดูว่าจะเข้าร่วมงานพิธีใดบ้าง ถ้าแขกต้องไปงานนิกะห์ด้วยก็จำเป็นจะต้องแต่งตัวมิดชิดและเรียบร้อย โดยสามารถคลุมผมแบบอิสลามได้หากต้องการ แต่ถ้าหากแขกจะไปร่วมงานเพียงแค่งานเลี้ยงวาลีมะห์ ก็สามารถแต่งตัวได้เหมือนไปร่วมงานเลี้ยงปกติเลยค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้น ให้ทางแขกลองติดต่อสอบถามไปที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวก่อนก็ได้ว่าลำดับพิธีเป็นอย่างไร และทางเจ้าบ่าวเจ้าสาวสะดวกให้แต่งตัวแบบไหนมาเพื่อให้ถูกต้องตามหลักศาสนาให้มากที่สุดค่ะ

การแต่งกายของแขกในงานแต่งอิสลาม

งานแต่งอิสลาม เต็มไปด้วยความงดงามและความบริสุทธิ์

แม้งานแต่งอิสลามเมื่อดูเผินๆจะเหมือนว่ามีข้อกำหนดและข้อห้ามมากมาย แต่ถ้าหากได้มองลึกลงไปแล้ว หลักเกณฑ์เหล่านี้ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เรียบง่ายตามหลักศาสนา ที่มักเน้นย้ำอยู่เสมอว่าเจ้าบ่าวเจ้าสาวมุสลิมสามารถแต่งงานกันได้โดยไม่ต้องมีพิธีการที่หวือหวาหรือมีสิ่งปรุงแต่งที่เกินกว่าจำเป็น ขอเพียงคุณมีความยึดมั่นศรัทธาตามหลักศาสนาอิสลามอย่างบริสุทธิ์ใจ ก็สามารถจัดงานแต่งงานอิสลาม ที่งดงามและถูกต้องตามหลักศาสนาได้อย่างแน่นอนค่ะ

อโบฟยินดีให้บริการคุณเสมอ

พูดคุยกับนักอัญมณีอโบฟไดมอนด์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของท่าน กรุณาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก