อัพเดทล่าสุด 12/01/2022 โดย Above Diamond

ความหมายของการแต่งงาน ที่แท้จริงของคุณคืออะไร

ความหมายของความสัมพันธ์และ

แชร์บทความนี้

ในบ่ายวันหนึ่ง คุณอาจจะกำลังเดินทอดน่องอยู่ริมชายหาดกับคนสำคัญของคุณ สายลมอุ่นๆพัดให้ปอยผมของเขาหรือเธอที่เดินนำอยู่ข้างหน้าปลิวเบาๆ เขาหรือเธอหันหลังกลับมาสบตาแล้วยิ้มให้ เพียงไม่กี่เสี้ยววินาที คอนเซปต์ของ “การแต่งงาน” ก็ค่อยๆขยายขึ้นในหัวสมองของคุณเหมือนลูกโป่งพองลม

คุณอาจนึกถึงคำนี้ขึ้นในหัวด้วยความสัมพันธ์ที่ดำเนินมาระยะหนึ่ง คุณกับคนสำคัญใช้เวลาร่วมกันทั้งสุขและทุกข์มาพอสมควร

แต่อีกเสี้ยววินาทีหนึ่ง คุณรู้สึกมวนๆที่หน้าอก เท้ากลับรู้สึกหนักจนไม่สามารถก้าวเดินต่อไปได้ “การแต่งงาน” ถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิต แต่กลับเป็นสิ่งที่คุณไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร หรือมีความหมายที่แท้จริงยังไง

คุณอาจเคยเห็นคุณพ่อ คุณแม่ ใช้ชีวิตแต่งงานร่วมกัน แต่คุณก็ไม่แน่ใจว่า ชีวิตแต่งงานของคุณจะเป็นแบบพวกท่านไหม แล้วเขาหรือเธอคนนั้น คือคนที่ใช่ และมีความหมายจนคุณอยากแต่งงานด้วยจริงๆหรือไม่

ด้วยคำถามทั้งหมดที่วนเวียนอยู่ในหัว จึงได้นำพาให้คุณมาพบกับบทความชิ้นนี้ ที่บรู๊คอยากจะชวนให้คุณขบคิดถึงคำถามว่า ความหมายของการแต่งงานที่แท้จริงนั้น คืออะไรกันแน่

ก่อนอื่น บรู๊คอยากพาคุณมาทำความเข้าใจความหมายของ “การแต่งงาน” ที่เกิดขึ้นในยุคต่างๆเสียก่อน ที่อาจทำให้คุณรู้สึกโชคดีกว่าคิด ที่ได้เกิดในยุคที่การแต่งงานสามารถเลือกกระทำได้ด้วยความรัก ความเคารพ และความเท่าเทียมกัน

กว่าจะมาเป็น “การแต่งงาน” ด้วยความรัก

หากย้อนไปถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีก่อนที่ยังไม่มีการแต่งงาน มนุษย์เพียงแค่อาศัยอยู่เป็นกลุ่มก้อนเหมือนกับฝูงสัตว์ ราวกลุ่มละ 30 คน โดยไม่ได้กำหนดเป็นครอบครัวที่ชัดเจน เด็กที่เกิดมาอาจเป็นลูกของใครในกลุ่มก็ได้

หลักฐานที่ชัดเจนว่ามนุษย์เริ่มมีการแต่งงานเกิดขึ้นเมื่อ 2,350 ปีก่อนคริสต์กาลในดินแดนเมโสโปเตเมีย ที่มีพิธีการรวมกันระหว่างชายหญิงคู่หนึ่ง และได้มีวิวัฒนาการต่อเนื่องมาอีกหลายร้อยปีในวัฒนธรรมกรีก โรมัน และฮิบรู

โดยในสมัยก่อน การแต่งงานเป็นไปเพียงเพื่อ “การจับจอง” และเพื่อบ่งบอกว่าเด็กที่เกิดเป็นลูกของใคร หรือสืบสายสกุลมาจากไหน อีกทั้งการแต่งงานยังเป็นการแสดงความเป็นเจ้าของแก่เพศหญิง ซึ่งเป็นเพียงทรัพย์สมบัติของเพศชายในยุคนั้น

การแต่งงานเพิ่งจะถูกทำให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ราวศตวรรษที่ 8 เมื่อศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกขึ้นมามีบทบาทสำคัญในยุโรปในการกำหนดความชอบธรรมในการแต่งงานนั้นๆให้ถูกต้องตามกฎหมาย

โดยการทำให้การแต่งงานเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาคริสต์ ก็ช่วยทำให้สถานะของผู้หญิงได้รับความเคารพมากยิ่งขึ้น มีการกำหนดไม่ให้มีการหย่าในศาสนาคริสต์นิกายนี้ และสร้างบรรทัดฐานเรื่องความซื่อสัตย์และการไม่นอกใจ รวมถึงแนวคิดเรื่องการมีคู่สมรสเพียงคนเดียว (Monogamy)

การแต่งงานด้วยความรัก เพิ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงยุคกลาง ด้วยตำนานความเชื่อฝรั่งเศสที่ว่ามีอัศวินคนหนึ่งมีรักที่เป็นไปไม่ได้ โดยไปตกหลุมรักกับภรรยาของคนอื่น และหลังจากนั้น ค่านิยมในการแต่งงานด้วยความรักก็เริ่มเพิ่มมากขึ้น โดยมีงานเขียนเกี่ยวกับความรักออกมามากมายตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 และ 13

และในหนังสือชื่อว่า A History of the Wife เขียนโดย Marilyn Yalom ก็ได้อธิบายว่า จากเดิมที่ผู้คนแต่งงานกันเพื่อผลประโยชน์ด้านทรัพยากรและแรงงาน การแต่งงานด้วยความรักได้เพิ่มพูนสถานะของผู้หญิงให้ดียิ่งขึ้น ด้วยความเคารพต่อความสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้น

จึงเห็นได้ว่า “ความรัก” ทำให้ความสัมพันธ์ของคนเท่ากันมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นเพศใด การแต่งงานด้วยความรักได้มีวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน ที่คุณและคู่ต่างให้คำมั่นสัญญาแลกเปลี่ยนว่าจะเคารพและรักกันอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่การจับจองเป็นเจ้าของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างในอดีต

กว่าจะมาเป็นการแต่งงานแบบไทยในปัจจุบัน

ส่วนในประเทศไทยนั้นก่อนหน้านี้หลายร้อยปี ไทยมีสถาบันครอบครัวแบบที่ชายหนึ่งคนมีภรรยาหลายคนได้ แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยอิทธิพลจากตะวันตก ก็ได้ผลักดันให้ชนชั้นปกครองเริ่มพูดถึงการเปลี่ยนแปลงขนบเป็นการมีคู่สมรสเพียงคนเดียว เพื่อป้องการลัทธิจักรวรรดินิยมเข้าแทรกแซงในประเทศไทย แต่ก็ยังคงทำได้ยากเพราะประชาชนยังไม่พร้อม

และแต่ก่อน การแต่งงานจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพ่อแม่ของฝ่ายหญิงอนุญาตเท่านั้นจึงจะถูกต้องตามกฎหมาย โดยทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงสามารถชอบพอกันได้ก่อนที่จะตกลงไปขอพ่อแม่ของฝ่ายหญิงเพื่อแต่งงาน และให้ฝ่ายชายเข้ามาอยู่บ้านของฝ่ายหญิงเพื่อช่วยเหลืองานต่างๆ

และในประเทศไทย แต่ก่อนก็มีการคลุมถุงชนในหมู่ผู้มีฐานะ อันเป็นไปเพื่อหน้าตา ทรัพย์สิน และชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล ที่ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะไม่รู้เลยว่าคู่ครองของตนจะเป็นใครจนกระทั่งถึงวันแต่งงาน

มีหลักฐานว่าประเทศไทยเพิ่งเริ่มระบบการมีคู่สมรสเพียงคนเดียวเมื่อในสมัยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ในปี พ.ศ. 2477 ที่เกิดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันมีรายละเอียดให้การแต่งงานจะต้องมีคู่ครองเพียงคนเดียว

และในยุคที่จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงปี พ.ศ. 2481-2487 ก็ได้มีการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับพิธีสมรสอันถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมสร้างชาติ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกายของเจ้าบ่าว ชุดเจ้าสาว รูปแบบพิธี สถานที่ และการจดทะเบียนสมรส ที่ได้มีการพัฒนามาเป็นพิธีการแต่งงานในประเพณีไทยปัจจุบัน

และในปัจจุบัน ค่านิยมการแต่งงานด้วยความรักก็ได้แพร่หลายในประเทศไทย โดยคนไทยในปัจจุบันสามารถเลือกได้ตามต้องการว่าอยากจัดงานแต่งแบบใด ถูกต้องตามประเพณีหรือไม่ และภายหลังการแต่งงานจะมีรูปแบบความสัมพันธ์เป็นเช่นไร

โดยในประเพณีไทย ได้ให้ความสำคัญของพิธีแต่งงานไว้ว่า:

  • เป็นสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนผ่านวัย เป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมจะแยกเรือนเป็นของตัวเอง
  • เป็นการแสดงความขอบคุณต่อบิดามารดาที่ช่วยอบรมเลี้ยงดูจนโต
  • เป็นการให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้ชีวิตร่วมกัน ในพิธีการที่มีแขกเหรื่อมาเป็นพยานและร่วมเฉลิมฉลอง
  • เป็นการประกาศให้คนใกล้ชิดและแวดวงสังคมทราบถึงการแต่งงานครั้งนี้

และเพราะประเพณีเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้เสมอ คุณสามารถเลือกจัดงานแต่งตามแบบแผนประเพณีเหล่านี้ หรือไม่จำเป็นต้องทำตามก็ได้ โดยบรู๊คเชื่อมั่นเสมอว่า ทุกคนมีสิทธิ์แต่งงานด้วย “เหตุและผล” ในแบบฉบับที่ตัวเองเลือกที่จะยอมรับได้

ดังนั้น กว่าจะมาเป็นการแต่งงานด้วยความรักที่เท่าเทียมกัน คนแต่ละยุคสมัยก็ให้ความหมายเกี่ยวกับการแต่งงานแตกต่างกันไป ทั้งการแต่งงานเพื่อการันตีความอยู่รอดและความมั่นคงในชีวิต หรือการแต่งงานเพื่อความดีงามและความศักดิ์สิทธิ์ตามหลักศาสนา

บรู๊คอยากจะเน้นย้ำว่า “การแต่งงาน” ไม่ได้จบลงแค่เพียงพิธีการอย่างที่เข้าใจกัน แต่ชีวิตแต่งงาน เพิ่งเริ่มต้นภายหลังจากพิธีการ การดำเนินการตามกฎหมาย หรือการให้คำมั่นสัญญาได้เสร็จสิ้น ความหมายของการแต่งงานจึงถูกแปลความได้หลากหลายมากตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน

และบรู๊คเชื่อว่า ความหมายในการแต่งงานของคุณ น่าจะแตกต่างจากของคนสมัยก่อนเป็นอย่างมาก แล้วแบบนี้ การแต่งงานจะมีความหมายอย่างไรต่อคุณได้บ้าง? ลองขบคิดตามในหัวข้อถัดไปกันเลยค่ะ

สิ่งที่หล่อเลี้ยงความหมายของ “การแต่งงาน”

แม้ว่าโดยแก่นของการแต่งงาน คือการที่คุณและคนสำคัญได้มาร่วมใช้ชีวิตด้วยกัน และแชร์ทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกันทั้งเงิน แรงงาน และความมั่นคงในชีวิตด้านอื่นๆ อย่างมีหลักประกันในระยะยาว ฟังดูแล้วก็คงไม่ค่อยโรแมนติกเท่าไหร่ใช่ไหมล่ะคะ ถ้าหากให้คุณเลือกแต่งงานจากเหตุผลความต้องการสิ่งเหล่านี้เท่านั้น ชีวิตคู่ก็คงจะดูเฉาๆ

แต่ภายใต้สิ่งที่ดูจริงจังเหล่านี้ กลับมีสิ่งที่คุณและคู่ได้สร้างร่วมกัน อันเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงความหมายของการแต่งงานให้มีความพิเศษ ทำให้คุณอยากจะใช้ชีวิตอยู่คู่กับใครไปนานๆ

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งไกลตัวเลย โดยอาจเกิดขึ้นแตกต่างกันไปในแต่ละคู่ อาจจะเป็นสิ่งเล็กๆในชีวิตประจำวันที่คุณคิดไม่ถึงก็ได้ เช่น การได้หัวเราะจนท้องแข็งระหว่างยืนคุยกันในห้องครัว การได้แอบมองคู่ของคุณที่เผลอหลับไปหน้าทีวี

หรืออาจเป็นการที่คุณมีแรงบันดาลใจและแรงฮึดในการทำงานเพื่อที่จะได้ไปสู่เป้าหมายทางการเงินร่วมกัน การที่คุณรอให้หมดวันทำงานไม่ไหวเพื่อที่จะได้กลับไปเจอคนสำคัญที่บ้านอีกครั้ง หรือแม้แต่บรรยากาศตึงเครียดในบางครั้งจากความไม่เข้าใจกัน

ซึ่งแน่นอนว่าในชีวิตคนเรา ไม่ว่าคุณจะแต่งงานหรือไม่ ก็ต้องเผชิญเรื่องราวทั้งดีและไม่ดีในชีวิต การแต่งงานก็จะนำพาให้คุณพบเจอกับทั้งเรื่องสุขและทุกข์ในรูปแบบของมัน แต่ว่ามีใครอีกคนร่วมเผชิญไปพร้อมกับคุณด้วย

ทั้งเสียงหัวเราะและน้ำตา รวมถึงประสบการณ์พิเศษร่วมกันเหล่านี้ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณทั้งคู่เติบโตไปด้วยกัน และนี่อาจจะเป็นเหตุผลที่หลายคนเลือกที่จะแต่งงานและใช้ชีวิตคู่ร่วมกับใครคนหนึ่งที่มีความหมายสำหรับเขา

เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ คุณอาจลองถามตัวเองดูว่า คุณอยากจะใช้ชีวิตและเติบโตไปพร้อมกับเขาหรือเธอคนนั้นหรือไม่?

“Samantha : So what was it like being married?
ซาแมนธา: แล้วการได้แต่งงานมันเป็นยังไงบ้าง?

Theodore : Well, it’s hard, for sure. But there’s something that feels so good about sharing your life with somebody.
ธีโอดอร์: อืม ก็ยากแน่ๆแหละ แต่เวลาได้ใช้ชีวิตร่วมกับใครซักคน มันมีบางอย่างที่ทำให้รู้สึกดีมากๆเลย”

ภาพยนตร์เรื่อง Her (2013)
กำกับโดย Spike Jonze

อ่านต่อ: 5 ไอเดียเจ๋ง ขอแต่งงาน เซอร์ไพรส์แฟนสาวให้ประทับใจไม่รู้ลืม

แบบไหนถึงเรียกว่า “การแต่งงาน” คุณเป็นคนกำหนด

ในสังคมปัจจุบัน ยังคงมีความคาดหวังจากคนรอบข้างในการแต่งงานให้เป็นไปตามแบบแผน ทั้งความคาดหวังว่าจะต้องจัดงานแต่งยิ่งใหญ่ เมื่อแต่งงานแล้วจะลงหลักปักฐาน มีชีวิตคู่ที่ราบรื่นตราบนิรันดร์ หรือเมื่อแต่งงานแล้วก็คาดหวังให้มีลูกในเร็ววัน หรือคาดหวังว่าการแต่งงานทำได้เฉพาะ ชาย-หญิง เท่านั้น

เสียงความคาดหวังเหล่านี้ ไม่สำคัญเท่ากับเสียงภายในใจของคุณและคู่ ว่าอยากจะให้ชีวิตคู่ออกมาในรูปแบบใด บรู๊คเชื่อว่ารูปแบบดังต่อไปนี้ ก็ถือว่าเป็น “การแต่งงาน” ที่ไม่ผิดเช่นกัน ทั้ง:

  • การแต่งงานโดยปราศจากพิธีการ (Elopement): ที่คุณและคู่เลือกที่จะไม่จัดงานแต่ง ที่ทำอาจเป็นเพียงแค่ไปจดทะเบียนสมรสร่วมกัน หรือเพียงแลกคำสาบานต่อกันด้วยพยานเพียงคนเดียว อาจเป็นเพราะไม่ชอบความวุ่นวายของการจัดงานหรือมีอุปสรรคด้านงบประมาณจัดงานแต่ง เพียงคุณและคู่ตกลงปลงใจจะใช้ชีวิตร่วมกัน ก็ถือว่าเป็นการแต่งงานแล้ว

    อ่านต่อ: คัมภีร์จัด “งานแต่งเล็กๆ” ให้เพอร์เฟกต์ในแบบคุณ

  • การแต่งงานโดยไม่ต้องสร้างครอบครัว: การไม่มีลูกตามความคาดหวังของคนรอบตัวไม่ใช่สิ่งผิด เพราะผู้คนในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องการทายาทเพื่อมาเป็นแรงงานในครอบครัวแบบสมัยก่อนอีกต่อไป แนวคิดเรื่องการสืบสายสกุลก็เริ่มซาลงไปในยุคปัจจุบันเช่นกัน หากต้องการมีลูก ให้คุณใช้แนวคิดเดียวกันกับการหาความหมายของการแต่งงานในบทความนี้ในการตัดสินใจ เพื่อ “ประสบการณ์ในการใช้ชีวิตร่วมกัน” ของคุณ คู่ และลูก จะดีที่สุดค่ะ
  • การแต่งงานโดยไม่จดทะเบียนสมรส: ก็ไม่ใช่เรื่องผิดเช่นกัน คุณอาจมองเห็นความยืดหยุ่นในการไม่ผูกพันทางกฎหมายกับคนที่คุณรักว่าดีกว่าในระยะยาว แต่ก็อาจต้องแลกมาด้วยการไม่ได้รับสิทธิ์บางอย่างตามกฎหมายเช่นกัน
  • การแต่งงานของเพศทางเลือก LGBTQI+: สิ่งนี้ไม่ควรเป็นสิ่งที่ผิดตั้งแต่แรก เพศสภาพและเพศวิถี ไม่ควรเป็นสิ่งที่มากำหนดสิทธิ์ว่าใครจะรักกับใครได้ การแต่งงานตามกฎหมายไม่ควรจำกัดอยู่เพียงแค่ชายและหญิง ซึ่งกฎหมายสมรสของประเทศไทยกีดกันเพศทางเลือกออกไป อันถือว่าเป็นการเห็นแก่ตัวและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

    อโบฟไดมอนด์เล็งเห็นประเด็นสำคัญตรงนี้ และเราสนับสนุนเต็มที่กับความรักของทุกเพศ และสนับสนุนให้มีการผลักดันการแก้กฎหมายให้เกิดการ “สมรสเท่าเทียม” กับทุกเพศอย่างแท้จริง

  • การหย่าร้าง: ไม่ว่าคุณจะหย่าร้างกี่รอบ สิ่งนี้ไม่ควรเป็นมลทินมัวหมอง (Stigma) ในชีวิตของคุณ เพราะทุกคนผิดพลาดในชีวิตกันได้ และความรักของคุณกับใครคนหนึ่งก็อาจเหมาะสมเพียงในช่วงเวลาหนึ่งๆเท่านั้น การแต่งงานไม่จำเป็นจะต้องเป็นการใฝ่หารักนิรันดร์ เพราะหากเป็นเช่นนั้น คุณจะผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า และคาดหวังว่าคู่ของคุณจะสมบูรณ์แบบจนหลงลืมช่วงเวลาที่ใช้ร่วมกันไป

    และแม้คุณยังไม่เคยแต่งงาน ก็อย่าได้กลัวการหย่าร้างที่อาจมีโอกาสเกิดขึ้น ขอให้คุณโอบรับความรักที่มีอยู่ในปัจจุบันและทะนุถนอมมันให้ดีที่สุด เรื่องหลังจากนั้นคืออนาคตที่ไม่มีใครคาดเดาได้ อย่าได้กังวลไปเลยนะคะ

และสุดท้าย “การเลือกไม่แต่งงาน” ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด และไม่ควรมีข้อบังคับว่าต้องแต่งเมื่อถึงวัยใดๆ ไม่ว่าคุณกำลังอยู่ในความสัมพันธ์หรือไม่ เพราะความต้องการในชีวิตของแต่ละคนล้วนแตกต่างกัน หลายคนสามารถเติมเต็มชีวิตได้ด้วยการเพลิดเพลินในสิ่งที่ชอบ หรือเอนจอยช่วงเวลากับเพื่อนฝูงและครอบครัว โดยไม่ต้องแบกภาระเพิ่มเติมในการแต่งงานที่อาจทำให้ชีวิตซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

หรือบางคนอาจยังไม่พร้อมแต่งงานด้วยปัจจัยหลากหลายอย่าง ทั้งปัจจัยด้านอาชีพ ฐานะ การเงิน สภาพสังคม หรือความพร้อมทางจิตใจ ก็ไม่ผิดที่จะเลือกเป็นโสดหรือคบหาดูใจกันไปก่อน

ไม่ว่าคุณเลือกไม่แต่งงานแบบใด สิ่งสำคัญก็คือหากคุณกำลังอยู่ในความสัมพันธ์ คุณควรหาโอกาสสื่อสารให้อีกฝ่ายเข้าใจเพื่อเป็นการปรับความคาดหวังให้ตรงกันตั้งแต่เนิ่นๆด้วยนะคะ

เมื่อไหร่ถึงพร้อมจะแต่งงาน?

หากคุณเป็นคนอายุใกล้วัย 30 หรือเลยมาแล้ว หลายคนก็มักจะเจอคำถามจากคนรอบตัวว่า “เมื่อไหร่จะแต่งงาน” หรือ “เมื่อไหร่จะมีแฟน” ซึ่งคุณคงไม่สามารถไปห้ามคนอื่นไม่ให้ถามได้ โดยสิ่งที่เขาถามนั้น ก็เป็นความเคยชินจากการที่สังคมมีค่านิยมที่ว่า “30 ต้องแต่ง”

แต่ก็ขึ้นอยู่กับคุณอีกนั่นแหละ ที่จะตอบคำถามตรงนี้กับตัวเองโดยไม่อิงกับบรรทัดฐานใดๆของสังคมที่อาจไม่เหมาะกับตัวคุณ ความพร้อมในการแต่งงานเป็นเรื่องของคุณและคู่ล้วนๆ ทั้งจากการที่คุณเข้าใจความหมายของการแต่งงานอย่างตรงกัน และมีความพร้อมในด้านต่างๆตามที่คุณมองว่าเหมาะสม

หลายคนกังวลถึงการไม่เจอ “คนที่ใช่” เสียที จนกลัวการผูกมัดและการแต่งงาน แต่บรู๊คเห็นว่าไม่มีใครบนโลกที่สมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่าง และไม่มีใครมีชีวิตแต่งงานที่ราบรื่น 100% เพราะชีวิตก็คือชีวิตที่มักจะเหวี่ยงอุปสรรคและความไม่เข้าใจกันมาให้เสมอ

บรู๊คคงได้แต่บอกว่า เมื่อใดที่ในภาพฝันอนาคตของคุณมีคนๆนั้นอยู่ด้วย และคนๆนั้นก็เห็นพ้องต้องกันกับคุณที่อยากจะมีเป้าหมายชีวิตร่วมกัน ทุกครั้งที่คุณหรือคู่ทะเลาะกัน คุณจะสามารถกลับมาทำความเข้าใจกันได้มากยิ่งขึ้นด้วยการมองเห็นเป้าหมายในชีวิตแต่งงานเดียวกัน

และเมื่อคุณมีความพร้อมทางจิตใจเพียงพอที่จะเริ่มต้นการผจญภัยโดยมีอีกคนร่วมทางไปด้วย (ซึ่งความพร้อมทางจิตใจของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป โดยอาจเริ่มต้นทางความรู้สึกมั่นคงในชีวิต ความพร้อมทางด้านวุฒิภาวะ หรือความพร้อมทางด้านอารมณ์ เป็นต้น) ทำให้ไม่ว่าเขาหรือเธอจะสมบูรณ์แบบหรือไม่ คุณก็น่าจะพร้อมพูดคุยเรื่องอนาคตการแต่งงานและใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันได้แล้วค่ะ

ก้าวย่างที่สำคัญของชีวิต…ร่วมกับใครสักคน

ย้อนกลับมาที่ตัวคุณที่เดินทอดน่องริมหาดทรายอีกครั้ง เขาหรือเธอยังคงหันมายิ้มให้คุณเหมือนเคย ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณแล้วว่า คุณพร้อมจะก้าวเดินต่อไปกับเขาหรือเธอคนนี้ ในการผจญภัยบทใหม่ของชีวิตอันเปี่ยมด้วยความหมายทั้งทุกข์และสุขที่คุณและคู่ร่วมกันออกแบบแล้วหรือยัง มีเพียงคุณเท่านั้นค่ะที่จะตอบคำถามนี้ได้

อโบฟไดมอนด์ ขอให้คู่รักทุกคู่ค้นพบความกล้าหาญในตัวเองที่จะใช้ชีวิตร่วมกันด้วยความรักและความเคารพซึ่งกันและกันอย่างที่ต้องการนะคะ

และเพราะการแต่งงานมีความหมายพิเศษเฉพาะคุณและคู่เท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญของเรายินดีบริการให้คำปรึกษาและออกแบบแหวนเพชรแท้แต่งงานที่เป็นตัวคุณและคู่มากที่สุด โดยคุณสามารถติดต่อเราได้ ที่นี่ เลยนะคะ

อโบฟยินดีให้บริการคุณเสมอ

พูดคุยกับนักอัญมณีอโบฟไดมอนด์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของท่าน กรุณาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก