อัพเดทล่าสุด 05/04/2022 โดย Above Diamond

“สินสอด” คืออะไร ควรตกลงที่เท่าไหร่ให้ผู้ใหญ่แฮปปี้ทุกฝ่าย

สินสอด ทองหมั้น

แชร์บทความนี้

การมีชีวิตคู่ที่ดีมักมาพร้อมกับความมั่นคงทางการเงิน “สินสอด” จึงเป็นปราการสำคัญที่คู่บ่าวสาวหลายคู่จำเป็นต้องพิสูจน์ให้ผู้ใหญ่เห็นก่อนแต่งงาน การตกลงเรื่องสินสอดจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องมีชั้นเชิงในการพูดคุย ถึงจะสบายใจกันได้ทุกฝ่าย

เมื่อคุณและแฟนผ่านการขอแต่งงาน ไม่ว่าจะเป็นการสั่งทำแหวนแต่งงานหรือตกลงกันเรื่องการจัดงานแต่งเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนถัดไปที่สำคัญมากๆในประเพณีไทยก็คงไม่พ้นการตกลงกันเรื่อง “สินสอด” กับผู้ใหญ่ ก่อนจัดงานแต่ง บางครั้งยากที่จะหลีกเลี่ยง

สิ่งนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและท้าทายสำหรับหลายๆคู่เพราะจำเป็นจะต้องประนีประนอมให้ทุกฝ่ายพอใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่อ่อนข้อจนเกินความสามารถและฐานะของฝ่ายชาย หลายๆคู่จำเป็นต้องล้มเลิกหรือเลื่อนงานแต่งออกไปเพราะยังไม่สามารถตกลงจำนวนสินสอดได้ลงตัว

ในบทความนี้ บรู๊คจึงอยากมาตีแผ่ทุกแง่มุมเกี่ยวกับ “สินสอด” ที่จะช่วยให้คุณเข้าใจถึงเหตุผลของผู้ใหญ่ รวมถึงบอกเคล็ดลับในการคุยกับผู้ใหญ่ให้ทุกฝ่ายสบายใจ และมาถกประเด็นว่าสินสอดยังจำเป็นอยู่หรือไม่ในยุคปัจจุบัน พร้อมแล้วเราไปดูกันเลยค่ะ

“สินสอด” คืออะไร? ทองหมั้นคืออะไร?

สินสอด แหวนแต่งงาน

สินสอด คือทรัพย์สินที่เป็นเสมือนค่าตอบแทนการยินยอมสมรส ในประเทศไทยจะหมายถึงทรัพย์สินของฝ่ายชายที่ให้แก่พ่อแม่หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิง โดยมักอยู่ในรูปแบบเงินตรา ซึ่งประเพณีนี้ยังปรากฏอยู่ในหลายๆที่ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นในจีน อินเดีย แอฟริกา หรือแม้แต่ในงานแต่งอิสลาม

ทองหมั้น หรือของหมั้น คือประเภทของสินสอดที่ไม่ใช่เงินตรา ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินต่างๆที่มีค่าทั้งทอง เพชร เครื่องประดับ บ้าน รถ คอนโดมิเนียม หรือสิทธิ์ในหุ้นต่างๆ โดยตามประเพณีแล้ว ของหมั้นจะตกเป็นของฝ่ายหญิงเพื่อเป็นสมบัติติดตัวตอนแต่งงานนั่นเองค่ะ

ทำไมต้องมี “สินสอด” ในประเพณีแบบไทย

ประเพณีการมอบสินสอดอยู่คู่กับสังคมไทยมาตั้งแต่โบราณ โดยแต่ก่อนการแต่งงานเป็นเรื่องของการคลุมถุงชนที่ฝ่ายหญิงและฝ่ายชายไม่ได้เป็นผู้เลือกคู่เอง แต่จะเป็นการจัดการเลือกให้โดยพ่อแม่ เพื่อความมั่นใจว่าลูกจะแต่งงานเข้าไปในครอบครัวที่มีฐานะเหมาะสม ไม่ตกทุกข์ได้ยาก โดยเฉพาะบ้านที่มีลูกสาวที่ในสมัยก่อนจำเป็นต้องออกเหย้าออกเรือน และพึ่งพารายได้ของฝ่ายชายที่ถือเป็นหัวหน้าครอบครัว

แต่การแต่งงานที่ฝ่ายหญิงและฝ่ายชายไม่ได้เป็นผู้เลือกเองนี้ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อครอบครัวฝ่ายหญิงเพราะไม่ได้เกิดขึ้นจากความรัก หากตกลงจะแต่งงานกันแต่ท้ายที่สุดฝ่ายชายยกเลิกงานแต่ง ก็จะทำให้ฝ่ายหญิงเป็นหม้ายขันหมากที่เสียเวลาและโอกาสจะได้แต่งงานกับลูกชายของบ้านอื่น

เพื่อจะจัดการกับความเสี่ยงตรงนี้ ครอบครัวของฝ่ายหญิงจึงต้องเรียกร้องสินสอดเพื่อเป็นเครื่องหมั้นหมายเอาไว้ก่อนว่าฝ่ายชายจะแต่งงานด้วยจริงๆ อย่างน้อยถ้ายกเลิกงานแต่งในภายหลัง ครอบครัวฝ่ายหญิงก็ยังสามารถเก็บหลักประกันเอาไว้ได้นั่นเองค่ะ

โดยในประเทศไทย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1437 ได้ระบุไว้ว่าจะต้องตกลงจำนวนสินสอดกันก่อนสมรส แต่สามารถมอบให้ก่อนหรือหลังสมรสก็ได้ โดยเมื่อมอบแล้วจะตกเป็นของพ่อแม่ฝ่ายหญิงทันที

รวมถึงชายและหญิงจะต้องมีเจตนาจะจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย หากไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนสมรสก็จะไม่ถือว่าทรัพย์สินที่ให้ไปเป็นสินสอด ทำให้เมื่อให้ไปแล้วฝ่ายชายจะเรียกคืนไม่ได้ เว้นแต่กรณีเดียวก็คือหากไม่ได้แต่งงานกันเนื่องจากมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ฝ่ายหญิง หรือเป็นสิ่งที่ฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ หรือไม่ยอมแต่งงานด้วย ก็จะต้องคืนสินสอดให้ฝ่ายชายค่ะ

โดยในปัจจุบันแม้ว่าผู้หญิงจะมีบทบาทในการทำงานและสร้างรายได้แก่ครอบครัวมากขึ้น แต่ประเพณีสินสอดก็ยังคงอยู่ในสังคมไทยโดยยังมองว่าเป็นเครื่องการันตีฐานะของฝ่ายหญิงเมื่อมีครอบครัว อีกทั้งยังเป็นเหมือนการตอบแทน “ค่าน้ำนม” ให้พ่อแม่ของฝ่ายหญิงที่ลงทุนเลี้ยงดูและให้การศึกษาอย่างสมฐานะ รวมถึงเป็นที่เชิดหน้าชูตาในสังคมอีกด้วย

“สินสอด” ควรเตรียมเท่าไหร่

ถือเป็นคำถามสำคัญที่หลายคนสงสัย จนถึงขั้นมีผู้ทำการวิจัยในแง่เศรษฐศาสตร์เพื่อหาสูตรคำนวณสินสอดที่เหมาะสมกันเลยทีเดียว

ในวิทยานิพนธ์ปริญญาโททางเศรษฐศาสตร์ของคุณภสุ ร่วมความคิด ในหัวข้อ “ถ้าฉันจะแต่งงาน ควรจะได้รับ/จ่ายสินสอดเท่าไร” จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวไว้ว่ามูลค่าสินสอดแท้จริงแล้วไม่ได้มีราคากลางหรือเทรนด์ที่ใครๆก็ทำกัน แต่จะขึ้นกับความพอใจของครอบครัวทั้งสองฝ่ายเมื่อเกิดการต่อรองกัน

นั่นหมายถึงว่า คุณจำเป็นจะต้องคำนวณทั้งมูลค่าที่ฝ่ายชายอยากจะจ่าย และมูลค่าที่ฝ่ายหญิงพึงได้รับ แล้วหาจุดที่มาเจอกันได้นั่นเอง

โดยจากการศึกษาและวิจัยของคุณภสุก็พบว่ามูลค่าของสินสอดจะขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของทั้งฝ่ายชายและหญิง โดยคุณลักษณะที่มีผลมากที่สุดก็คือ ระดับรายได้ ระดับการศึกษา การมีภาระรับผิดชอบต่อครอบครัว และการแต่งงานเป็นลำดับแรกของครอบครัว

คุณภสุยังได้ออกแบบสูตรคำนวณสินสอดที่เหมาะสมจากแนวโน้มผลการวิจัยที่เกิดขึ้น โดยถ้าคู่แต่งงานมีระดับรายได้สูงขึ้น 1 บาท จะทำให้มีมูลค่าสินสอดเพิ่มขึ้น 2.205 บาท อีกทั้งยังมีค่าน้ำหนักให้กับปัจจัยอื่นๆ ทั้งอายุคู่แต่งงาน ภูมิลำเนา ระดับการศึกษา ตำแหน่งหน้าที่การงาน และภาระรับผิดชอบต่อครอบครัว

สูตรคำนวณที่ได้โดยใช้ค่าเฉลี่ยของคู่บ่าวสาวเข้าไปในสมการจึงออกมาเป็นประมาณนี้ค่ะ:

มูลค่าสินสอด = (2.2205 x รายได้ต่อเดือน) + (8,986.92 x อายุ) + (174,818.6 หากเป็นคนกรุงเทพฯ) – (454,350.5 หากจบการศึกษาไม่เกินมัธยม/ปวช.) + (227,064.1 หากแต่งงานเป็นลำดับแรกของครอบครัว) – (134,160.8 หากมีภาระต้องดูแลครอบครัวอยู่) + (1,890,610 หากเป็นผู้บริหารระดับสูง)

ดูค่อนข้างซับซ้อนใช่มั้ยล่ะคะ? ยังดีที่มีผู้พัฒนาโปรแกรมได้สร้างแบบจำลองคิดมูลค่าสินสอดเอาไว้ สามารถไปดาวน์โหลดมาลองคำนวณกันได้ ที่นี่ เลยค่ะ และเนื่องจากการวิจัยนี้ทำขึ้นตั้งแต่ปี 2549 คุณอาจจะลองเพิ่มปัจจัยเงินเฟ้อเข้าไปปีละประมาณ 3.5% เพื่อให้ตัวเลขแม่นยำขึ้นด้วยนะคะ

โดยแม้คุณและคู่จะได้ตัวเลขสินสอดมาจากการคำนวณข้างต้น แต่สูตรคำนวณนี้ก็เป็นเพียงแนวโน้มที่ทั้งสองฝ่ายจะพอใจจากการวิจัยเท่านั้น ทำให้การตกลงมูลค่าของแต่ละบ้านอาจแตกต่างจากผลการวิจัยอย่างสิ้นเชิงไปเลยก็ได้

ในการประเมินสินสอดที่เหมาะสม บรู๊คอยากแนะนำให้คุณและคู่ลองทำตามขั้นตอนดังนี้ค่ะ:

  1. ลองประเมินมูลค่ามูลค่าสินสอดจากโปรแกรมคำนวณข้างต้น
  2. นำตัวเลขจากการคำนวณมาถามตัวเองว่าคุณสามารถจะจ่ายตามตัวเลขข้างต้นนี้ไหวไหม หากไม่ไหว คุณมีช่วงระดับของมูลค่าในใจ จากน้อยที่สุดไปหามากที่สุดเป็นเท่าไหร่
  3. ลองคาดการณ์ว่าทางพ่อแม่ฝ่ายหญิงคิดว่าจะเรียกสินสอดเป็นช่วงระดับมูลค่าที่เท่าไหร่ จากน้อยที่สุดไปหามากที่สุดเช่นกัน
  4. หาจุดที่ลงตัวกับทั้งสองฝ่าย แต่หากดูตัวเลขแล้วไม่น่าจะลงตัว ยังมีทรัพย์สินมีค่าอะไรอีกไหมที่คุณสามารถให้ หรือสัญญาว่าจะให้ในภายหลังได้แทนที่จำนวนเงิน

อ่านต่อ: ค่าใช้จ่ายงานแต่งงาน กับวิธีคุมงบไม่ให้บานปลาย

ลำดับการตกลงสินสอดกับผู้ใหญ่

แต่งงานแบบไทย

จากวิธีการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมข้างต้นก็จะทำให้คุณมองเห็นว่าตนเองมีไพ่อะไรในมือ และพอจะคาดการณ์ความต้องการของครอบครัวฝ่ายหญิงได้ ต่อจากนี้ก็จะเป็นการเข้าไปตกลงมูลค่าสินสอดกับผู้ใหญ่ ที่ต้องใช้ทั้งความนอบน้อมรวมถึงเทคนิคและชั้นเชิงในการเจรจาอย่างมีวาทศิลป์ ต้องทำอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

1. เจ้าสาวเลียบเคียงถามผู้ใหญ่ถึงตัวเลขในใจ

โดยแม้จะมีตัวเลขในใจทั้งหมดแล้ว แต่ก็ดีกว่าถ้าหากคุณสามารถขอให้ทางเจ้าสาวช่วยถามทางคุณพ่อคุณแม่ว่ามีตัวเลขในใจอยู่เป็นเท่าไหร่ ก็จะทำให้คุณสามารถประเมินมูลค่าสินสอดหรือหาทางออกที่น่าจะเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายได้ง่ายขึ้น หากผู้ใหญ่ยังไม่แน่ใจตัวเลข จะลองคำนวณจากโปรแกรมข้างต้นให้ท่านดูคร่าวๆก็ได้ค่ะ

2. เจ้าสาวกระซิบบอกตัวเลขที่ฝ่ายชายจ่ายไหว

หลังจากรู้ตัวเลขที่คุณพ่อคุณแม่ฝ่ายหญิงพอใจแล้ว ให้ทางเจ้าบ่าวกลับมาประเมินว่าจากช่วงระดับตัวเลขที่จ่ายไหว ตัวเลขตรงไหนที่พวกท่านน่าจะพอใจ ก็ให้ทางเจ้าสาวแอบกระซิบทางคุณพ่อคุณแม่ไปว่าเจ้าบ่าวมีกำลังจ่ายประมาณเท่านี้นะ แล้วดูท่าทีของท่านว่าจะโอเคไหม

โดยเคล็ดลับในการเจรจาต่อรอง บรู๊คแนะนำว่าให้เผยตัวเลขที่ฝ่ายชายพอใจจะจ่ายเป็นตัวเลขที่น้อยที่สุดก่อน (แต่ก็ยังดูสมฐานะ ไม่ดูน้อยจนเกินไป) แล้วจึงค่อยปรับมูลค่าตามท่าทีของพวกท่าน และในขณะเดียวกันหากคุณเป็นคุณพ่อคุณแม่ของฝ่ายหญิง คุณก็สามารถบอกตัวเลขที่คุณพอใจมากที่สุดก่อนได้เช่นกัน

3. นัดเจอกับผู้ใหญ่

ขั้นตอนนี้เป็นส่วนสำคัญที่คุณจะแสดงให้ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเห็นถึงความเคารพนอบน้อม และความตั้งใจที่ต้องการจะแต่งงานด้วยความรักที่มี ให้เจรจากับพวกท่านอย่างเป็นมิตร สุภาพ และใจเย็น เพราะอย่างน้อยหากทั้งคุณและคุณพ่อคุณแม่ฝ่ายหญิงรู้ตัวเลขคร่าวๆก่อนหน้าจะมาเจอกันแล้ว ก็น่าจะพอคิดหาจุดที่ลงตัวมาระดับหนึ่ง การเจรจาก็จะง่ายยิ่งขึ้น

4. สื่อสารให้ชัดเจน

หากเป็นไปได้ ให้คุณบอกตัวเลขที่คุณจ่ายไหว แล้วรับฟังความเห็นของคุณพ่อคุณแม่ว่าพอใจมากน้อยแค่ไหน หรือมีมูลค่าในใจเป็นเท่าไหร่ หากพวกท่านยังไม่พอใจ ก็ให้ค่อยๆเพิ่มมูลค่าขึ้นเรื่อยๆทีละนิดแต่ยังอยู่ในระดับที่คุณไหว ลองเจรจาอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยเน้นสิ่งที่คุณมีในมือเป็นหลัก หากอยู่ในจุดที่การเจรจาเริ่มร้อนแรง ก็อาจขอพักเบรกเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ก่อนก็ได้

หากทางคุณพ่อคุณแม่ยังคงอยากได้สินสอดเพิ่ม ก็อาจจะลองมาหาทางออกร่วมกันว่าคุณสามารถให้เป็นทรัพย์สินอื่นๆ หรือตกลงมอบให้ภายหลังการแต่งงานแทนได้หรือไม่

5. ทำข้อตกลง

ข้อตกลงจะเป็นเครื่องการันตีมูลค่าสินสอดที่ครอบครัวฝ่ายหญิงจะได้รับ และเป็นเงื่อนไขที่ฝ่ายชายตกลงทำตาม สิ่งนี้จะเป็นผลดีกับทั้งสองฝ่ายเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งหรือความเข้าใจผิดในภายหลัง อันจะส่งผลต่อชีวิตแต่งงานในระยะยาวนั่นเองค่ะ

การเช่าสินสอด

ต้องบอกเลยนะคะว่าธุรกิจเช่าสินสอดถือเป็นธุรกิจที่ร้อนแรงมากในวงการงานแต่งปัจจุบัน โดยมีราคาสูงเริ่มต้นที่หลักหมื่นบาทไปจนถึงหลักแสน เงินสดเช่าและทรัพย์สินที่ได้รับ ก็มีมูลค่าตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักสิบล้านบาท

โดยผู้ที่ใช้บริการก็มักเป็นคู่บ่าวสาวที่ยังไม่มีทุนทรัพย์พอจะจ่ายค่าสินสอดในวันแต่งงาน แต่ก็ต้องการจะวางสินสอดในพิธีแต่งงานให้เป็นหน้าเป็นตาแก่ตนเองและครอบครัว

สิ่งที่ได้รับจากการเช่าสินสอดก็มีทั้งเงินสด ทองแท่ง ทองรูปพรรณ รถยนต์หรู โดยทุกอย่างจะถูกเก็บเป็นความลับไม่ให้แขกรู้

บรู๊คมองว่าการเช่าสินสอด เป็นการตัดสินใจส่วนบุคคลที่ทำได้หากจะทำให้งานแต่งของบ่าวสาวสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กรณีที่บรู๊คคิดว่าควรต้องระวังก็คือการเช่าทรัพย์สินมามอบให้กับครอบครัวฝ่ายหญิง โดยไม่ได้ตกลงหรือบอกกับครอบครัวฝ่ายหญิงไว้ก่อน ก็อาจทำให้พ่อแม่ฝ่ายหญิงเข้าใจผิดคิดว่าเป็นทรัพย์สินของตน เมื่อถึงเวลาต้องคืนทรัพย์สินที่เช่ามาจึงอาจเกิดปัญหาผิดใจกันได้ โดยมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นจริงดังที่เป็นข่าว ที่เรื่องราวได้บานปลายใหญ่โตจนถึงขั้นต้องแจ้งความกันเลยทีเดียว

ไม่มีสินสอด ทำได้หรือไม่

คู่รักแต่งงาน เจ้าสาวถือดอกไม้

ขอตอบเลยว่า ทำได้แน่นอนค่ะ การมอบสินสอดแม้เป็นประเพณีที่ทำกันมาแต่โบราณ แต่ไม่ได้เป็นข้อกำหนดว่าต้องทำตามกฎหมาย และในปัจจุบันได้กลายมาเป็นสิ่งที่แสดงฐานะของครอบครัวบ่าวสาว รวมถึงสัญลักษณ์การตอบแทนพระคุณบุพการีมากกว่าการเป็นหลักประกันการแต่งงานดังเช่นในสมัยก่อน

แต่การจะแต่งงานโดยไม่มีสินสอด อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่บ่าวสาวเพียงอย่างเดียว สังคมไทยหยั่งรากลึกเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ของครอบครัวที่ต้องรักษาน้ำใจกันเพื่อให้ทุกความสัมพันธ์ไปรอด

หากคุณและคู่ไม่อยากให้มีสินสอดในงานแต่ง สิ่งที่ต้องทำก็คือ “เจรจา” ด้วยความเห็นอกเห็นใจกัน ว่ามีสิ่งใดที่คุณและคู่ทำให้คุณพ่อคุณแม่สบายใจแทนได้บ้าง

แต่หากไม่ว่าจะยังไงก็ต้องมีสินสอด ที่คุณและคู่ทำได้ก็คือลองเจรจาเช่นกัน ตามลำดับข้างต้นที่บรู๊คได้แนะนำไป โดยไม่ฝืนกำลังทรัพย์ ความสามารถ และฐานะของเรา ก็ถือว่าคุณและคู่ได้พยายามที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่อยู่รอบๆการแต่งงานให้ดีที่สุดแล้วนะคะ

สินสอด ในฐานะบททดสอบความรัก

เพราะการแต่งงาน แท้จริงแล้วอาจเกี่ยวพันมากกว่าแค่เรื่องของคนสองคน แต่ยังหมายถึงการจัดการความสัมพันธ์กับคนรอบตัวให้ไปกันรอดด้วย แม้บทใหม่ในชีวิตของคุณและคู่จะท้าทายแค่ไหน บรู๊คเชื่อว่ามันจะคุ้มค่ากับทุกความพยายามแน่นอนค่ะ

หากคุณกำลังวางแผนแต่งงาน และต้องการสั่งทำแหวนแต่งงานในสไตล์ของคุณเอง ไม่ว่าจะเป็นแหวนเพชรหรือแหวนเกลี้ยง ก็สามารถทำนัดเพื่อรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของเราฟรีได้ที่ Above Diamond เลยนะคะ

อโบฟยินดีให้บริการคุณเสมอ

พูดคุยกับนักอัญมณีอโบฟไดมอนด์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของท่าน กรุณาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก