อัพเดทล่าสุด 28/01/2022 โดย Above Diamond

ชุดเพื่อนเจ้าสาว เลือกยังไงให้แฮปปี้ทั้งเจ้าสาวและผองเพื่อน

ชุดเพื่อนเจ้าสาว

แชร์บทความนี้

ในวันที่เพื่อนสนิทของคุณโทรมาบอกว่า “เธอกำลังจะแต่งงาน” กับคนที่เธอรัก นั่นน่าจะเป็นวันที่คุณปลื้มใจและยินดีที่สุดในฐานะเพื่อนที่คบกันมาอย่างยาวนาน เพราะเพื่อนของคุณได้กลายเป็นว่าที่เจ้าสาวที่กำลังจะออกเรือนและเริ่มต้นชีวิตใหม่

และในโมเม้นต์ที่ว่าที่เจ้าสาวมาขอให้คุณเป็น “เพื่อนเจ้าสาว” ในงานแต่งงาน ก็ทำให้คุณรู้สึกภูมิใจที่ได้รับเกียรติเป็นสักขีพยานลำดับต้นๆในวันสำคัญนี้

คุณเริ่มฝันไปไกลถึงภาพวันแต่งงานของเพื่อน แต่แล้วก็เริ่มมีความกังวลเข้ามาแทนที่ ว่าคุณต้องแต่งตัวแบบไหน? จะฉีกธีมงานออกไปไหม? คุณยังอยากดูดีให้สมฐานะเพื่อนเจ้าสาวคนสำคัญในวันงาน ในชุดที่เหมาะสมกับตัวคุณมากที่สุด แต่ก็กลัวจะดูเด่นเกินหน้าเจ้าสาว แบบนี้ คุณควรจะเลือก “ชุดเพื่อนเจ้าสาว” อย่างไรดี?

หรือถ้าหากคุณเป็นว่าที่เจ้าสาว ก็อาจยังไม่แน่ใจว่าจะตกลงกันกับเหล่าเพื่อนเจ้าสาวทั้งแก๊งอย่างไร ให้ชุดเพื่อนเจ้าสาวของทุกคนยังออกมาดูดีและอยู่ในธีมที่คุณต้องการ

บรู๊คจึงอยากชวนทั้งเหล่าเพื่อนเจ้าสาวและตัวเจ้าสาวเอง มาลองดูวิธีเลือกชุดเพื่อนเจ้าสาวให้เหมาะสมกับงานแต่งงานที่กำลังจะเกิดขึ้น ให้อยู่ในงบ พร้อมมีรูปแบบของชุดที่ทุกฝ่ายแฮปปี้ คุณควรเริ่มต้นจากตรงไหน ในบทความนี้บรู๊คมีคำตอบค่ะ

เริ่มแรกสุด เพราะ “ชุดเพื่อนเจ้าสาว” เป็นส่วนหนึ่งของงานแต่งงาน ที่ผู้กำหนดแนวทางคนสำคัญก็คงไม่พ้นตัว “เจ้าสาว” ทำให้ก่อนที่คุณจะเลือกซื้อชุดเพื่อนสาว ทั้งตัวเจ้าสาวเองและแก๊งค์เพื่อนก็ควรมาพูดคุยถึงความต้องการว่าอยากให้ลักษณะชุดออกมาเป็นแบบใด และตัวเพื่อนเจ้าสาวเองมีความต้องการหรือความกังวลอะไร ในหัวข้อดังต่อไปนี้:

  • งบประมาณ
  • ธีมงานและระดับความทางการ
  • โทนสีของชุด
  • วิธีการตัดเย็บ
  • การเลือกเนื้อผ้า
  • รูปแบบและความยาวของชุด
  • รองเท้าและเครื่องประดับ
  • หน้าและผม

โดยจะมีเคล็ดลับและวิธีการในแต่ละหัวข้อ ดังนี้ค่ะ

1. งบประมาณตัด “ชุดเพื่อนเจ้าสาว”

สิ่งนี้จะกำหนดวิธีการตัดเย็บชุดเพื่อนเจ้าสาวว่าใครจะเป็นคนจัดการ ไม่ว่าจะเป็นตัวเจ้าสาวตัดชุดให้เพื่อน เจ้าสาวเพียงซื้อผ้าให้เพื่อนไปตัดชุดกันเอง หรือให้เพื่อนหาชุดเพื่อนเจ้าสาวกันเองตามธีมที่กำหนด การตัดสินใจตรงนี้ก็ขึ้นกับเจ้าสาวว่าจะกำหนดงบประมาณเป็นเท่าไหร่

หากตัวเจ้าสาวมีงบประมาณพอและตัดสินใจจะตัดชุดให้เพื่อนเอง ก็สามารถทำได้เลยค่ะ เจ้าสาวเพียงอาจจะต้องนำรูปแบบของชุดที่ต้องการตัดมาพูดคุยกับทางเพื่อนเจ้าสาวว่าชอบด้วยหรือไม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การตัดสินใจขั้นสุดท้ายก็จะขึ้นกับตัวเจ้าสาวเองที่เป็นเจ้าของงบประมาณค่ะ

ในบางกรณี เพื่อนเจ้าสาวอาจจะเสนอช่วยค่าตัดชุดเพื่อนเจ้าสาวในบางส่วน ซึ่งสามารถทำได้ในกรณีที่เจ้าสาวมีงบประมาณไม่เพียงพอ หรือต้องตัดชุดเพื่อนเจ้าสาวจำนวนมาก ก็จะช่วยแบ่งเบาความกังวลเรื่องงบประมาณการจัดงานแต่งงานของเจ้าสาวลงไปได้ค่ะ

ถ้าหากคุณในฐานะเจ้าสาวต้องการให้เพื่อนไปตัดชุดกันเอง เพื่อให้อิสระเพื่อนได้เลือกแบบชุดตามต้องการและเพื่อแบ่งเบาเรื่องงบประมาณ คุณอาจลองถามความต้องการของเพื่อนแต่ละคนว่าสามารถจ่ายค่าตัดชุดเป็นคนละเท่าไหร่ จะได้กำหนดเพดานงบประมาณของการตัดชุดให้อยู่เท่าๆกัน เพื่อไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งไม่สบายใจที่ต้องออกเงินตัดชุดแพงเกินควรค่ะ

นอกจากนี้ อีกเคล็ดลับนึงก็คือ ให้เจ้าสาวและเพื่อนช่วยกันหา contact ติดต่อช่างตัดชุดที่ราคาอยู่ในงบ แล้วพากันไปตัดชุดพร้อมๆกันเลย คุณภาพการตัดเย็บจะได้ใกล้เคียงกันในราคาที่ทุกคนพอใจด้วยนั่นเองค่ะ

อ่านต่อ: เปิดคัมภีร์ “ค่าใช้จ่ายงานแต่งงาน” สำหรับคู่รักทุกงบประมาณ

2. ธีมงานและระดับความทางการ

นี่เป็นประเด็นลำดับที่ 2 ที่ต้องให้ความสำคัญเวลาเลือกชุดเพื่อนเจ้าสาว โดยจะอิงจากสิ่งสำคัญ 2 อย่าง นั้นก็คือ:

ชุดเจ้าสาว

เพราะเพื่อนเจ้าสาวจะเป็นผู้ที่อยู่เคียงข้างเจ้าสาวแทบจะตลอดทั้งวันงาน ทำให้การแต่งตัวของทั้งเจ้าสาวและเพื่อนจะเสริมลุคให้กันและกัน และเพราะนี่เป็นงานแต่งของเจ้าสาว ชุดเพื่อนเจ้าสาวจึงควรอิงจากรูปแบบชุดเจ้าสาวเป็นหลัก

เช่น ถ้าหากชุดเจ้าสาวเป็นชุดลูกไม้ ชุดเพื่อนเจ้าสาวก็อาจใช้เพียงผ้าเรียบๆไม่มีลวดลาย แต่ถ้าหากชุดเจ้าสาวเป็นชุดเรียบๆ ถ้าอยากให้ลุคโดยรวมของงานดูหวานมากยิ่งขึ้น ชุดเพื่อนเจ้าสาวก็อาจเป็นชุดลูกไม้หรือชุดที่มีลวดลายเบาๆก็ได้

หรือถ้าหากชุดเจ้าสาวของคุณมีรูปแบบสบายๆ ไม่หวือหวามาก ชุดเพื่อนเจ้าสาวก็ควรจะมีลักษณะสบายๆล้อกันกับสไตล์ของชุดเจ้าสาวเช่นกัน หรือถ้าชุดเจ้าสาวเป็นทรงตรง/ทรงหางปลา ให้เพื่อนใส่ชุดทรงตรง ไม่พอง หรือกระโปรงทรงเอก็จะเข้ากันมากกว่าค่ะ

ธีมงาน

สิ่งนี้จะเป็นตัวบ่งบอกว่ารูปแบบชุดเพื่อนเจ้าสาวจะออกมาในแนวทางไหน ทั้งรูปทรงและสีที่จะต้องเลือกให้เข้ากันกับธีม ตัวเจ้าสาวเองต้องสื่อสารกับเพื่อนๆให้ชัดเจนว่ารูปแบบงานจะเป็นแบบใด มีความทางการในระดับไหน

ถ้าหากเป็นงานที่หรูหราและเป็นทางการมากๆ ชุดเพื่อนเจ้าสาวที่เหมาะก็อาจเป็นชุดราตรียาว แต่ถ้าหากเป็นเพียงงานเช้าหรืองานแต่งริมทะเล ก็สามารถลดระดับความทางการลงให้เป็นชุดเดรสสั้น หรือชุดที่ดูสบายๆเข้ากันกับบรรยากาศทะเลก็ได้ค่ะ

หรือถ้าคุณต้องการมอบหมายให้เพื่อนเจ้าสาวช่วยในงานแต่ง เช่นในพิธียกน้ำชาที่ต้องมีการนั่งพื้น การเลือกชุดเจ้าสาวแบบประโปรงบานหรือแบบที่ลุกนั่งสะดวกก็ดูจะเหมาะกว่าค่ะ

3. โทนสีของ “ชุดเพื่อนเจ้าสาว”

โทนสีของชุด เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ชุดเพื่อนเจ้าสาวโดดเด่นแตกต่างจากแขกคนอื่น เพราะทั้งกลุ่มจะมีสีเหมือนกันหมด โดยโทนสีของชุดเพื่อนเจ้าสาวมักอิงจากโทนสีของงานเป็นหลัก โดยโทนสีของงานก็มักจะอิงจากธีมงานและสถานที่จัดว่ามีสีเข้ากันหรือไม่

ในบางงาน เจ้าบ่าวเจ้าสาวอาจเลือกโทนสีเด่นสีเดียว ซึ่งมักนำมาใช้เป็นสีของชุดเพื่อนเจ้าสาวด้วย แต่ก็มีอีกหลายงานที่มีโทนสีหลากหลายแบบ Color Palette ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ เจ้าสาวก็สามารถหยิบหนึ่งในสีที่มีอยู่มาทำเป็นโทนสีของชุดเพื่อนเจ้าสาวก็ได้ค่ะ

นอกจากนี้ สีผิวของเพื่อนเจ้าสาวก็เป็นส่วนสำคัญที่ว่าที่เจ้าสาวควรรับฟังว่าโทนสีของชุดเพื่อนเจ้าสาวที่คุยกันอยู่เข้ากับสีผิวของเพื่อนหรือไม่

โดยถ้าหากคุณมีเพื่อนเจ้าสาวที่มีโทนสีผิวใกล้ๆกันทั้งกลุ่มก็น่าจะเลือกโทนสีที่เข้ากับสีผิวได้ง่าย แต่ถ้าหากภายในกลุ่มเพื่อนมีสีผิวที่แตกต่างกันไปตั้งแต่ผิวขาวไปจนถึงผิวสีเข้ม คุณก็อาจเลือกสีชุดเพื่อนเจ้าสาวในโทนสีเดียวกันแต่ไล่สีชุดให้เหมาะกับสีผิวของแต่ละคน ก็สามารถสร้างความแตกต่างและทำให้เพื่อนเจ้าสาวดูดีในแบบของตัวเองโดยไม่หลุดธีมงานได้ค่ะ

4. วิธีการตัดเย็บ “ชุดเพื่อนเจ้าสาว”

การเลือกวิธีการตัดเย็บ จะต่อเนื่องมาจากการตั้งงบประมาณตัดชุดเพื่อนเจ้าสาว โดยถ้าหากเจ้าสาวมีงบประมาณไม่มาก หรืออยากให้เพื่อนๆมีโอกาสได้เลือกชุดในสไตล์ที่ตัวเองชอบ ก็อาจซื้อผ้าผืนเดียวกันแล้วเปิดโอกาสแจกจ่ายให้เพื่อนเจ้าสาวเอาไปตัดชุดกันเองก็ได้

โดยไม่ว่าเจ้าสาวจะเลือกวิธีการตัดเย็บแบบตัดชุดให้เพื่อนหรือซื้อผ้าให้เพื่อนไปตัดชุดเอง บรู๊คก็ยังคงแนะนำให้พาเพื่อนๆไปตัดชุดพร้อมๆกัน ทุกอย่างจะได้เป็นแบบแผนและตรงกับความต้องการ ที่จะทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกมั่นใจและเป็นตัวเองในวันงานค่ะ

และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในเรื่องของการตัดเย็บก็คือ การกำชับช่างตัดเสื้อให้ตัดชุดให้พอดีกับขนาดตัว จึงจะสามารถช่วยเน้นสัดส่วนและทำให้ชุดเพื่อนเจ้าสาวออกมาดูเนี้ยบและสวยที่สุด

แต่ถ้าหากคุณและเพื่อนเจ้าสาวตัดสินใจจะซื้อชุดเพื่อนเจ้าสาวแบบสำเร็จ บรู๊คก็แนะนำว่าคุณควรต้องเอาชุดไปแก้ให้พอดีขนาดตัวมากที่สุด โดยแม้ว่าเรื่องนี้อาจจะดูหยุมหยิม แต่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับลุคเพื่อนเจ้าสาวได้อย่างมากในวันงานเลยล่ะค่ะ

5. การเลือกเนื้อผ้าสำหรับ “ชุดเพื่อนเจ้าสาว”

การเลือกเนื้อผ้าสำหรับตัดเย็บชุดเพื่อนเจ้าสาวถือว่าสำคัญกว่าที่คิด เพราะจะเป็นตัวกำหนดลุคของเพื่อนเจ้าสาวว่าจะดูสวยหวาน ดูทันสมัย ดูหรูหรา หรือดูเปรี้ยวเฉี่ยวตามธีมที่ต้องการ

อีกทั้งเนื้อผ้ายังมีผลต่อความสบายในการสวมใส่ตามลักษณะอากาศและสถานที่จัดงาน การเลือกเนื้อผ้าที่ดีจึงควรเป็นเนื้อผ้าที่เพื่อนเจ้าสาวจะสามารถสวมใส่ได้ตลอดวันงานโดยไม่รู้สึกอึดอัด คัน หรือเคลื่อนไหวลำบากค่ะ

โดยเนื้อผ้าสำหรับชุดเพื่อนเจ้าสาวที่เป็นที่นิยมจะมี 3 แบบ ดังนี้:

  • ผ้าชีฟอง (Chiffon): ผ้าชีฟองเป็นเนื้อผ้ายอดนิยมของชุดเพื่อนเจ้าสาวในเมืองไทย เนื่องจากมีลักษณะเบาสบาย เนื้อผ้านิ่ม ทำให้เมื่อนำมาตัดชุดจะดูพริ้วไปกับลำตัวและสวมใส่สบาย ไม่คัน ไม่ร้อน จึงเหมาะใส่ในงานแต่งรูปแบบกลางแจ้งที่มีอากาศร้อน หรืองานแต่งริมทะเลค่ะ
  • ผ้าซาติน (Satin): ผ้าซาตินเป็นเนื้อผ้าที่มีลักษณะมันเงา ให้ความรู้สึกหรูหรา เหมาะนำมาตัดเป็นชุดเพื่อนเจ้าสาวในงานแต่งงานที่อยู่ด้านในอาคารหรือในโรงแรมและมีอุณหภูมิเย็นสบาย หากใส่ชุดเพื่อนเจ้าสาวผ้าซาตินในที่ที่มีอากาศร้อน ก็จะทำให้รู้สึกอึดอัดและมีเหงื่อออกด้วยเนื้อผ้าที่หนักกว่า จึงไม่เหมาะกับใส่ในงานแต่งกลางแจ้งหรืองานแต่งริมทะเลค่ะ
  • ผ้าลูกไม้/ผ้ามีลวดลาย/ผ้าลายดอกไม้: แม้ส่วนใหญ่คุณมักจะเห็นชุดเพื่อนเจ้าสาวในรูปแบบเรียบๆ แต่ก็ใช่ว่าคุณจะออกแบบชุดเพื่อนเจ้าสาวให้มีลวดลายไม่ได้

    โดยการใช้ผ้าลูกไม้ ผ้ามีลวดลาย หรือผ้าลายดอกไม้ จะทำให้ชุดเพื่อนเจ้าสาวของคุณดูโดดเด่นและสวยหวานได้มากขึ้นเหมาะสำหรับงานแต่งงานที่ดูโรแมนติก อีกทั้งยังช่วยเพิ่ม Contrast ให้กับชุดเจ้าสาวแบบเรียบๆดูทันสมัย ดูเข้าธีมได้อย่างสมดุล

    หรือถ้าใช้ผ้าที่มีลวดลายเรขาคณิต ลายเสือดาว หรือลวดลายทันสมัยอื่นๆ ก็จะทำให้ชุดเพื่อนเจ้าสาวดูสวยเฉี่ยว เหมาะเป็นก๊วนเพื่อนเจ้าสาวสไตล์เปรี้ยวๆก็ได้เช่นกันค่ะ

อ่านต่อ: เปิดกรุแบบ “ชุดแต่งงานสวยๆ” เรียบหรูสไตล์คุณ (ตอนที่ 2)

6. การเลือกรูปแบบชุดเพื่อนเจ้าสาว

หลังจากเจ้าสาวและเพื่อนๆ ได้มีข้อตกลงร่วมกันคร่าวๆว่าธีมงานจะเป็นอย่างไร จะตัดชุดอย่างไร และเนื้อผ้าจะเป็นแบบไหน ทีนี้ก็ถึงคราวเพื่อนเจ้าสาวเลือกรูปแบบชุดเพื่อนเจ้าสาวให้ตรงธีมและข้อกำหนด รวมถึงเลือกชุดที่ทำให้คุณดูสวยและเป็นตัวของตัวเอง โดยมีเจ้าสาวช่วยดูอยู่ห่างๆ และนี่คือสิ่งที่เพื่อนเจ้าสาวต้องตัดสินใจในการเลือกรูปแบบชุด ดังนี้ค่ะ:

ความยาวของ “ชุดเพื่อนเจ้าสาว”

ส่วนใหญ่ความยาวของชุดจะขึ้นอยู่กับความทางการของงานว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร เช่นถ้าหากเป็นงานกลางคืนก็อาจจะใส่เป็นชุดราตรียาวได้ หรือถ้าหากเป็นงานกลางวัน การใส่ชุดเพื่อนเจ้าสาวแบบสั้นก็อาจจะเข้ากว่า

ซึ่งเจ้าสาวสามารถเป็นคนกำหนดได้ด้วยว่าอยากให้ชุดเพื่อนเจ้าสาวมีความยาวเท่ากันหมดหรือสลับความสั้นยาวได้ตามความต้องการของแต่ละคน โดยมีเคล็ดลับการเลือกความยาวของชุด ดังนี้ค่ะ:

  • ความยาวประมาณเข่า: ชุดเพื่อนเจ้าสาวความยาวประมาณเข่าคือความยาวของกระโปรงที่เหมาะสมและไม่ควรสั้นไปกว่านี้ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่เจ้าสาวและงานแต่ง

    โดยกระโปรงความยาวประมาณเข่าสามารถใส่ได้ทั้งงานกลางวันและงานกลางคืนโดยไม่ดูโป๊จนเกินไป แต่ถ้าหากคุณเป็นสาวตัวเล็ก การเลือกกระโปรงความยาวประมาณเหนือเข่าเพียงเล็กน้อยจะทำให้ขาของคุณดูเรียวยาวขึ้น และดูตัวสูงขึ้นค่ะ

  • ความยาวประมาณหน้าแข้ง: กระโปรงความยาวประมาณหน้าแข้ง (Midi Skirt) ให้ลุคที่ดูสวยหวาน แต่ก็ต้องระวังการเลือกความยาวที่ไม่ทำให้หน้าแข้งดูใหญ่ เพราะปลายกระโปรงมักมาจรดกับส่วนที่กว้างที่สุดของหน้าแข้งพอดีทำให้ดูขาใหญ่ได้

    ทางที่ดี ถ้าหากคุณอยากเลือกกระโปรงสำหรับชุดเพื่อนเจ้าสาวความยาวเท่านี้ก็ควรใส่ส้นสูงร่วมด้วย โดยให้เลือกรองเท้าสีเนื้อที่จะช่วยให้ขาดูเรียวยาวยิ่งขึ้นค่ะ

  • ความยาวคลุมเท้า: เป็นความยาวสำหรับชุดราตรีที่คลุมเรียวขาทั้งหมดทำให้ดูสวยสง่า แต่ถ้าหากคุณเป็นสาวตัวเล็ก ก็อย่าลืมใส่ส้นสูงและไม่ควรใส่กระโปรงความยาวลากพื้นเพื่อไม่ให้ดูตัวตัน รวมถึงให้เลือกส่วนบนของชุดที่เปิดเผยผิวมากขึ้น จะดูสมดุลมากกว่าค่ะ

ลักษณะชุดบริเวณช่วงคอและอก

การเลือกลักษณะชุดบริเวณช่วงคอและอกให้เหมาะสมกับสไตล์การแต่งตัวของคุณจะทำให้ชุดเพื่อนเจ้าสาวดูแตกต่างได้ในแต่ละคน และยังช่วยขับเน้นจุดเด่นบนเรือนร่างหรือซ่อนรูปในส่วนที่ไม่ต้องการได้

โดยในการเลือกลักษณะชุดบริเวณท่อนบน ถ้าหากเจ้าสาวต้องการให้ชุดเพื่อนเจ้าสาวออกมาเป็นรูปแบบเดียวกันหมด ก็ควรเลือกรูปแบบชุดที่เพื่อนเจ้าสาวทุกคนพอใจและใส่สวย หรือถ้าไม่อย่างนั้น ก็ให้เพื่อนเจ้าสาวแต่ละคนเลือกรูปแบบชุดด้วยตัวเองจะดีที่สุดค่ะ

นอกจากนี้ ไม่ใช่ทุกคนจะใส่ชุดเพื่อนเจ้าสาวแบบแขนกุดแล้วจะมั่นใจในตัวเอง เพื่อนเจ้าสาวบางคนอาจจะกังวลเรื่องขนาดแขน หากเป็นเช่นนั้น การเลือกชุดเพื่อนเจ้าสาวที่มีแขนเสื้อก็จะช่วยพรางช่วงแขนที่เราไม่ต้องการให้เห็นได้ค่ะ

เลือกชุดตามลักษณะหุ่นของเพื่อนเจ้าสาว

เพื่อนเจ้าสาวและเจ้าสาวจะต้องคุยกันถึงความต้องการว่าแต่ละคนมีความกังวลอะไร อยากใส่ชุดแบบไหน เช่น ถ้ามีความกังวลเรื่องช่วงแขน จะขอเลือกชุดที่ปิดแขนได้ไหม หรือหากกังวลเรื่องเรียวขา จะขอตัดชุดเป็นกระโปรงทรงเอได้หรือไม่ ถ้าปรึกษากันแล้วยังไม่หลุดธีมก็ทำตามที่ต้องการได้เลยค่ะ

ชุดควรเป็นสไตล์คลาสสิค

นั่นหมายถึงชุดเพื่อนเจ้าสาวที่ดูเรียบง่าย ไม่หวือหวา หรือตามเทรนด์จนเกินไป แบบถ้าหากมองกลับมาในอีก 10 ปีก็ยังดูดีอยู่นั่นเองค่ะ

7. การเลือกรองเท้าและเครื่องประดับที่ใช่

ในการเลือกรองเท้าและเครื่องประดับที่เหมาะกับชุดเพื่อนเจ้าสาว ส่วนมากจะเป็นตัวเพื่อนเจ้าสาวเองที่เลือกให้เข้ากับสไตล์ของตัวเอง แต่ก็ยังคงควรอยู่ในความดูแลของเจ้าสาวนะคะ โดยมีวิธีเลือกรองเท้าและเครื่องประดับที่ใช่ ดังนี้ค่ะ:

  • รองเท้า: ให้คุณเลือกรองเท้าที่เข้ากันกับชุดเพื่อนเจ้าสาวดังที่ได้กล่าวไปในเรื่องของลักษณะความยาวของชุด เพื่อให้ขาดูเรียว ไม่ตัน แต่ก็ควรเลือกรองเท้าที่เดินสบายและดูดีได้ตลอดงาน อีกทั้งถ้าหากจำเป็นต้องเดินบนพื้นหญ้า ก็ไม่ควรใส่รองเท้าส้นเข็มเพราะจะทำให้เดินลำบากค่ะ
  • เครื่องประดับ: คุณสามารถดูตามธีมงานแต่งได้ว่ามีความเป็นทางการหรือหรูหรามากน้อยเพียงใด แล้วจัดเครื่องประดับให้เข้ากันกับชุดเพื่อนเจ้าสาวในระดับความหรูหราที่ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป

    นอกจากนี้ เจ้าสาวควรกำหนดเครื่องประดับให้เป็นโทนสีเดียวกันด้วย ว่าอยากจะใช้เครื่องประดับโทนสีเงิน สีทอง หรือสีโรสโกลด์ ก็จะทำให้ดูเป็นทีมเพื่อนเจ้าสาวเหมือนกันยกแก๊งค์ได้ค่ะ

  • น้อยแต่มาก: เคล็ดลับสำคัญในการเลือกเครื่องประดับและรองเท้าคือการเลือกสิ่งที่สวยโดดเด่นเป็นตัวเอง แต่แน่นอนว่าไม่ควรเด่นเกินเจ้าสาว เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่งานแต่งและตัวเจ้าสาวที่เป็นเพื่อนรักค่ะ

8. หน้าและผม

หน้าและผมถือเป็นเรื่องสำคัญในวันงานไม่แพ้ชุดเจ้าสาวเลยล่ะค่ะ เพราะจะเป็นตัวช่วยเสริมความงามให้กับเพื่อนเจ้าสาวดูโดดเด่นและเป็นตัวเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การแต่งหน้าและทำผมก็ควรจะให้ออกมาอยู่ในธีมเดียวกัน

ดังนั้นหากเป็นไปได้ ถ้าหากแก๊งค์เพื่อนเจ้าสาวสามารถจ้างทีมช่างทำผมและแต่งหน้าทีมเดียวกันมาทำให้ได้ ก็จะได้สไตล์การแต่งหน้าและทำผมที่ดูเป็นแก๊งค์เดียวกันมากที่สุด

แต่ถ้าหากมีงบประมาณไม่พอจนเพื่อนเจ้าสาวต้องแต่งหน้าทำผมกันเอง เจ้าสาวก็อาจจะส่ง reference ของรูปแบบทรงผมและสไตล์การแต่งหน้าในแบบต่างๆที่อยู่ในธีมเดียวกันให้เพื่อนๆเลือก โดยเน้นความเรียบง่าย ทำไม่ยาก และประหยัดงบประมาณค่ะ

อ่านต่อ: 8 เคล็ดลับเลือก “ทรงผมเจ้าสาว” ตามสไตล์ชุดแต่งงาน

การเลือกชุดเพื่อนเจ้าสาวจึงถือเป็นอีกหนึ่งในเรื่องสำคัญ ที่ทั้งเจ้าสาวและเพื่อนเจ้าสาวต้องช่วยกันตัดสินใจให้ออกมาดูดีที่สุดในวันงาน จึงถือเป็นอีกหนึ่งบททดสอบมิตรภาพที่มีให้กัน ที่ทั้งคุณและเพื่อนจะผ่านมันไปพร้อมกันด้วยการรับฟังและความเข้าใจ

ขอเพียงคุณและเพื่อนสื่อสารถึงความต้องการระหว่างกัน รับฟัง และพร้อมปรับตัว ค่อยๆไล่พิจารณาการเลือกชุดเพื่อนเจ้าสาวไปทีละหัวข้อ ในท้ายที่สุดคุณก็จะได้ใส่ชุดเพื่อนเจ้าสาวที่งดงาม พร้อมยืนเคียงคู่เจ้าสาวที่เป็นเพื่อนคนสำคัญของคุณในวันสำคัญแน่นอนค่ะ

อโบฟไดมอนด์ขอเป็นกำลังใจให้เจ้าสาวและเพื่อนสาวทุกคน เรายินดีให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการสั่งทำแหวนเพชรและแหวนแต่งงาน รวมถึงออกแบบให้ตรงใจคุณมากที่สุด โดยคุณสามารถติดต่อเราเพื่อนัดหมายรับคำปรึกษาได้ที่นี่เลยค่ะ

อโบฟยินดีให้บริการคุณเสมอ

พูดคุยกับนักอัญมณีอโบฟไดมอนด์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของท่าน กรุณาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก